วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2557

วิธีการฝึกการพูดของ พันเอก ปิ่น มุทุกันต์


วีธีการฝึกการพูดของ พันเอก ปิ่น มุทุกันต์

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก


                พันเอก ปิ่น  มุทุกันต์ เป็นนักพูดลือนามในอดีตของไทยเรา เริ่มชีวิตการเป็นนักพูดจากการเป็นสามเณร ซึ่งท่านเทศน์ได้ไพเราะและมีสาระที่ดีมาก ต่อมาได้อุปสมบทที่วัดเกาะได้รับฉายาในพระพุทธศาสนาว่า “วิริยากโร”

                ในขณะที่เป็นพระ ท่านก็เป็นพระนักเทศน์ที่มีชื่อเสียง ท่านต้องเดินทางไปเทศน์ยังต่างจังหวัด ซึ่งต้องเดินทางเป็นประจำ สำหรับลีลาการเทศน์ของท่านในขณะนั้น ท่านมักที่จะประยุกต์แนวความคิดและวิธีการใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ในการเทศน์ อีกทั้งท่านมีน้ำเสียงที่ห้าวๆ แต่มีความแจ่มใส สามารถสะกดใจผู้ฟังได้ จึงทำให้การเทศน์ของท่านมีสาระเร้าใจคนฟังอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งทำให้เกิดความสนุกไม่เบื่อ ฟังง่าย นับได้ว่าเป็นนักเทศน์ที่มีความคิดก้าวหน้า กล้าคิด กล้าทำ ในยุคนั้น

                สำหรับวิธีการฝึกการพูดของ พันเอก ปิ่น มุทุกันต์ ท่านได้เขียนและพูดไว้ในหลายที่ ซึ่งสามารถสรุปย่อๆได้ดังนี้

                วิธีที่ 1 ท่องจำเอาคำพูดของท่านผู้อื่น ตอนที่พันเอก ปิ่น มุทุกันต์ ได้เริ่มฝึกการพูดใหม่ๆ ตอนสมัยเป็นสามเณร ท่านมีความประทับใจนักเทศน์ท่านหนึ่งคือ ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ สิริจันโท วัดบรมนิวาส ซึ่งเป็นพระนักเทศน์ที่ไปเทศน์ที่ไหนคนชอบคนอยากฟัง

                ท่านจึงได้ไปฟังการเทศน์แล้วก็จดจำคำพูด อีกทั้งเมื่อได้รับหนังสือพระธรรมเทศนากัณฑ์ อัตตาหิ อัตตโนนาโถ ท่านได้ท่องจำคำเทศน์จนคล่องปาก วันหนึ่ง ชาวบ้านได้นิมนต์ท่านไปเทศน์งานบุญแห่งหนึ่ง ท่านก็ได้เทศน์ปากเปล่าตามที่ท่านได้ท่องจำเอาไว้ จนกระทั่งชาวบ้านติดอกติดใจ ต่อมาท่านก็ได้มีการขยาย ต่อเติม เชื่อมคำพูดต่างๆลงไปในกัณฑ์เทศน์นั้น จนกระทั่งเกิดความสมบูรณ์ขึ้น

                วิธีที่ 2 ขยันตามฟังคนอื่นพูด พันเอก ปิ่น มุทุกันต์ มักจะติดตามฟังคนที่พูดเก่งและคนที่พูดไม่เก่ง เพื่อศึกษาดูสไตล์ เวลาฟังก็จะจดว่าตรงไหนดี ท่านก็จะทำเอาไปใช้ ตรงไหนไม่ดี ท่านก็ทิ้งไป สำหรับการฟังท่านจะติดตามฟัง นักพูดท่านหนึ่งๆหลายๆครั้ง ไม่ใช่ฟังนักพูดท่านนั้น เพียงแค่ครั้งเดียว แล้วไม่ไปฟังอีก เพราะการติดตามฟังซ้ำๆจะทำให้เราทราบสไตล์ของนักพูดท่านนั้น

                วิธีที่ 3 หัดอ่านหนังสือให้เป็น พันเอก ปิ่น มุทุกันต์ กล่าวว่า การอ่านหนังสือออกกับการอ่านหนังสือเป็น  ไม่เหมือนกัน การอ่านที่ว่า  ท่าน หมายถึง การหัดอ่านออกเสียง อ่านให้เหมือนกับการพูด คือต้องมีเสียงสูง เสียงต่ำ มีหนัก มีเบา มีประโยคสั้น ประโยคยาว มีเว้นวรรค มีหยุด ฉะนั้นการอ่านหนังสือต้องทำให้เหมือนกับการพูด  ฉะนั้นขอให้ฝึกอ่านหนังสือออกเสียง ไม่ใช่อ่านหนังสือในใจ

                วิธีที่ 4 หัดย่อความ-ขยายความ พันเอก ปิ่น มุทุกันต์ กล่าวว่า การฝึกย่อความและขยายความมีประโยชน์ในการเป็นนักพูดและนักเขียนเป็นอันมาก และท่านแนะนำให้ฝึกย่อความก่อน

การย่อความท่านเปรียบดังการเก็บของลงในกระเป๋าเดินทาง ต้องรู้ว่าชนิดและขนาดของของที่จะใส่ลงไป จึงจะบรรจุได้ดี อีกทั้งต้องรู้ว่าอะไรควรใส่ก่อนและใส่ทีหลัง ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการวางแผน  

การขยายความ ท่านเปรียบเสมือน การรื้อของออกจากกระเป๋า ผู้รื้อจะต้องเข้าใจว่า จะเอาอะไรขึ้นมาก่อน จะเอาอะไรขึ้นมาทีหลัง คล้ายๆกับการบรรจุ และพันเอก ปิ่น มุทุกันต์ ท่านแสดงความคิดเห็นว่า การบรรจุยากกว่าการรื้อ เพราะคนบรรจุเป็นมักรื้อเป็นทุกคน แต่คนรื้อเป็นไม่แน่ว่าจะบรรจุเป็นทุกคน

นี่คือวิธีการฝึกการพูดของ พันเอก ปิ่น มุทุกันต์ โดยย่อๆ หากว่าท่านผู้อ่านต้องการศึกษาเพิ่มเติมท่านสามารถไปหาอ่านได้เพิ่มเติมจากหนังสือ  ประวัตินักพูดไทยเล่มที่ 1

หลังจากบวชได้เป็นเวลานาน  ต่อมา พันเอก ปิ่น มุทุกันต์ จึงได้ตัดสินใจลาสิกขา แล้วก็ได้เข้าสอบเป็นอนุศาสนาจารย์ทหารบกซึ่งสอบข้อเขียนได้ที่ 1 หลังจากนั้นก็ได้ถูกเชิญให้ไปพูดในหลายๆหัวข้อ ให้กับผู้คนในหลายๆกลุ่ม ซึ่งภาพพจน์ของท่านในเวลานั้น ท่านเป็นนักพูดธรรมะทางวิทยุโทรทัศน์ และวงอภิปรายในสถาบันต่างๆ เช่น  มหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียนนายร้อย โรงเรียนนายอำเภอ เป็นต้น

จนในเวลาต่อมาได้มีคนนำเอาคำพูดของท่านมาทำเป็นหนังสือแล้วก็ถูกตีพิมพ์เป็นจำนวนมาก นับเป็นมรดกที่สำคัญที่ท่านส่งมอบให้กับสังคมไทย

 

               

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น