วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2555

ABCD กับการเขียน


ABCD กับการเขียน
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
ในการเขียนหนังสือที่ดี มีคุณภาพ น่าอ่าน ขายดี เราควรคำนึงถึงลักษณะ ABCD ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
                A : Attention คือ การสร้างความสนใจ การใช้ภาษาในการเขียนมีส่วนที่จะทำให้ผู้อ่านเกิดความสนใจ อีกทั้งการใช้ภาษาที่ดียังสามารถโน้มน้าวใจผู้อ่าน ให้อ่านหนังสือจนจบเล่มได้  การออกแบบรูปเล่มก็มีความสำคัญ การใช้สีปกต้องโดดเด่น สามารถหยุดผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านสนใจ อยากหยิบขึ้นมาอ่านได้ ชื่อหนังสือต้องดึงดูด สั้นกระชับได้ใจความ พอผู้อ่านเห็นชื่อแล้ว อยากที่จะอ่าน ตัวอย่างเช่น การพาดหัวตัวใหญ่ หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์  ปกหลังต้องมีข้อความหรือรูปภาพเพื่อดึงดูด โดยมากมักจะนำเสนอเรื่องย่อ ภายในหนังสือ ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้เป็นที่น่าสนใจแก่ผู้อ่านได้  
                B : Benefits คือ บอกประโยชน์จากการที่ได้รับคุณค่าจากอ่านหนังสือ บางคนอ่านหนังสือเรื่อง “ พ่อรวยสอนลูก” แล้วไม่ยอมวาง เนื่องมาจากข้อความในหนังสือมีประโยชน์และสามารถนำเอาไปใช้ได้ บางคนอ่านหนังสือ “ขายหัวเราะ” แล้วไม่ยอมวาง เนื่องจากได้รับประโยชน์จากข้อความภายในหนังสือ อ่านแล้วมีความสนุกสนาน คลายเครียด   หรือบางคนป่วยเป็นโรค เมื่อได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับการรักษาโรคต่างๆ แทบจะไม่วางหนังสือเล่มนั้น เนื่องจากว่าผู้อ่านได้รับประโยชน์จากการอ่านหนังสือเพื่อนำไปใช้รักษาสุขภาพของตนเอง
                C : Creativity คือ มีการสร้างสรรค์ หนังสือที่ขายดีส่วนใหญ่ในปัจจุบัน มักเป็นหนังสือที่มีการสร้างสรรค์ มีการสร้างความแปลกใหม่ ทั้งรูปปก เนื้อหาภายใน การจัดหน้าหนังสือ มีการเขียนที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นตัวของตัวเอง อีกทั้งมีการสร้างจุดเด่นใหม่ๆ ขึ้นมาในงานเขียน พูดง่ายว่า ต้องมีความโดดเด่น แปลกใหม่ สร้างสรรค์ แตกต่าง
                D : Demand  คือ การคำนึงถึง ผู้อ่าน ความต้องการของผู้อ่านมีผลต่อการขายหนังสือได้ดี เราจะสังเกตเห็นว่าหนังสือบางเล่ม เขียนได้ดี แต่ยอดขายไม่ดี ซึ่งแตกต่างกับหนังสืออีกจำนวนหนึ่งที่ เขียนได้ดีน้อยกว่าแต่หนังสือเล่มดังกล่าวไปสนองความต้องการของผู้อ่าน จึงทำให้เกิดการขายดี หรือ นักเขียนบางคนถึงกับเขียนหนังสือตามกระแสไปเลย  เช่น ประวัติของนายกรัฐมนตรีคนใหม่  , ชีวประวัติของบุคคลที่โด่งดังในเมืองไทยซึ่งเป็นที่น่าสนใจของคนโดยทั่วไป เช่น ประวัติของเจ้าสัว เช่น เจ้าสัวธานินทร์ เจียรวนนท์(ซีพี) , เจ้าสัวเจริญ ศิริวัฒนภักดี(เบียร์ช้าง) , เจ้าสัวบรรฑูร ลำซำ(แบงค์กสิกรไทย) เป็นต้น
ดังนั้น คนที่ประสบความสำเร็จในการเขียนควรคำนึงถึงปัจจัย ABCD ข้างต้น เพราะ ปัจจัย ABCD เป็นปัจจัยตัวหนึ่งในหลายๆปัจจัยที่ทำให้เราประสบความสำเร็จในการเขียน
“ จงเขียนให้มากๆ แล้วคุณจะประสบความสำเร็จในการเป็นนักเขียน”

วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

คุณประโยชน์ของการอ่าน คือ หน้าต่างแห่งโลกกว้าง

คุณประโยชน์ของการอ่าน คือ หน้าต่างแห่งโลกกว้าง
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                เมื่อวันที่ 27 กรกฏาคม 2555 กระผมได้มีโอกาสไปบรรยายให้ความรู้กับ เจ้าหน้าที่ พนักงาน ผู้บริหารของ องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ดอกคำใต้และ บุคลากรของ มหาวิทยาลัยพะเยาบางส่วน ในหัวข้อ “ คุณประโยชน์ของการอ่าน คือ หน้าต่างแห่งโลกกว้าง”  จัด ณ ห้องประชุมใหญ่ ของ องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ดอกคำใต้ ในโอกาสนี้เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ กระผมจึงได้เขียนบทความฉบับนี้เพื่อเผยแพร่
                เมื่อพูดถึงเรื่องการอ่านของสังคมไทย สังคมไทยมีนิสัยรักการอ่านโดยเฉลี่ยต่อคนน้อยมาก จากสถิติการอ่านหนังสือของคนไทยในปี 2554 ( อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2555 ) ประเทศเวียดนาม ประชาชนอ่านหนังสือเฉลี่ย 60 เล่ม ต่อปี , ประเทศสิงคโปร์ ประชาชนอ่านหนังสือเฉลี่ย 40-60 เล่มต่อปี และประเทศไทยของเรา ประชาชนอ่านหนังสือเพียง 2-5 เล่มต่อปีเท่านั้น
จากสถิติข้างต้นเราจะเห็นได้ว่า คนไทยอ่านหนังสือน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เพราะธรรมชาติของคนไทยมีนิสัยที่ชอบพูด ชอบฟัง มากกว่า ชอบอ่าน ชอบเขียน อีกทั้งในสังคมโลกยุคปัจจุบันมีสื่อที่ทันสมัยอีกมากมาย จึงทำให้การอ่านของคนไทยยิ่งน้อยลง เช่น มี VCD DVD  อินเตอร์เน็ต ฯลฯ
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ได้เขียนในหนังสือของท่านว่า สังคมโลกแบ่งออกเป็น 5 ยุค ซึ่งประกอบไปด้วย ยุคที่ 1 ยุคของสังคมเกษตร คนที่มีที่ดินมากจึงถือว่าเป็นคนที่มั่งคั่งในยุคสังคมในสมัยนั้น ยุคที่ 2 ยุคสังคมอุตสาหกรรมเป็นยุคของการผลิต ใครผลิตได้มาก ใครตั้งโรงงาน ใครมีทุนมากถือว่าเป็นคนที่มั่งคั่ง ยุคที่ 3 เป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร เป็นยุคของคนที่มีข้อมูลมากมักได้เปรียบคนมีข้อมูลน้อย ยุคที่ 4 เป็นยุคของความรู้ เป็นยุคที่ใครสามารถแปลงข้อมูลเป็นความรู้ได้คนนั้นได้เปรียบกว่าคนอื่นๆ และยุคที่ 5 เป็นยุคของสังคมแห่งปัญญา กล่าวคือ ใครสามารถเอาความรู้มาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาจะได้เปรียบกว่าคนอื่นๆ
ดังนั้น การอ่านจึงมีความสำคัญอย่างมากในสังคมโลกยุคปัจจุบันและยุคอนาคต แต่เป็นที่น่าเสียดายที่สังคมไทยและคนไทยยังให้ความสำคัญกับการอ่านน้อยมาก
สำหรับคุณประโยชน์ของการอ่านนั้น มีมากมาย เช่น
1.การอ่านทำให้เกิดความคิด คนที่อ่านหนังสือมากมักจะเป็นนักคิด อีกทั้งการอ่านยังทำให้เราสามารถคิดใคร่ครวญมากกว่าการฟัง เพราะการฟังเราไม่สามารถหยุดฟังคนพูดได้ เราต้องฟังจนจบ แต่การอ่านหนังสือ เมื่อเราอ่านแล้วเกิดคำถาม หรือข้อสงสัย เราสามารถหยุดอ่านบรรทัดนั้นได้แล้ว คิดต่อว่าสิ่งที่เราอ่านนั้นใช่หรือไม่ใช่ เป็นจริงหรือไม่เป็นจริง ตามที่ผู้เขียนได้เขียนไว้
2.การอ่านช่วยในการสร้างสมาธิได้ดี คนที่อ่านหนังสือมักเป็นคนที่มีสมาธิ การอ่านจึงเป็นวิธีในการฝึกสมาธิอย่างหนึ่ง เป็นการฝึกสมาธิที่ได้ทั้งองค์ความรู้ ความคิด ข้อมูลข่าวสารในเวลาเดียวกัน
3.การอ่านช่วยในการพัฒนาตนเอง คนที่อ่านหนังสือมากมักเป็นคนที่ชอบเรียนรู้ ชอบที่จะพัฒนาตนเอง การอ่านจึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการพัฒนาตนเองเพื่อให้เกิดทักษะต่างๆอย่างมากมาย
4.การอ่านช่วยให้เกิดการเพลิดเพลิน บางคนเมื่อทำงานเหนื่อย เกิดความเบื่อหน่ายในการทำงาน การอ่านหนังสือ ตลก หนังสือบันเทิง หนังสือนิยาย  จะช่วยให้เกิดการเพลินเพลินได้อีกวิธีหนึ่ง
5.การอ่านช่วยในการสร้างแรงบันดาลใจ คนที่ประสบความสำเร็จมักชอบอ่านหนังสือ การอ่านหนังสือทำให้เขาเกิดความคิด เกิดแรงบันดาลใจ เกิดความมานะที่จะต่อสู้สิ่งต่างๆ โดยเฉพาะ การอ่านหนังสือประเภท ชีวประวัติบุคคลสำคัญของโลก
เมื่อเราเห็นประโยชน์ของการอ่านหนังสือแล้ว แต่ถามว่าทำไมคนไทยจึงไม่ชอบอ่านหนังสือ อาจเป็นเพราะ หลายคนคิดเรื่องเกี่ยวกับหนังสือไม่ถูกต้อง เช่น เมื่ออ่านหนังสือมากๆ กลัวถูกคนล้อว่า เป็น “ หนอนหนังสือ” หรือ “ อ่านหนังสือแล้วเครียด”  อีกทั้งบรรยากาศในการอ่านก็มีส่วนช่วยในการอ่านหนังสืออีกด้วย การปรับปรุงห้องสมุด จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะเป็นเครื่องมือในการช่วยให้คนไทยเกิดนิสัยรักการอ่านเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้นคุณประโยชน์ของการอ่าน จึงเป็นการเปิดหน้าต่างให้เราพบโลกที่กว้างขึ้น เราสามารถรู้วัฒนธรรม ประเพณี ความเป็นอยู่ เรื่องราวของประเทศต่างๆ  ของคนอีกซีกโลกหนึ่งก็ด้วยการอ่าน จงอ่านหนังสือมากๆ แล้วชีวิตของท่านจะเกิดการเปลี่ยนแปลง

วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ยกระดับงานเขียนของท่าน

จงยกระดับงานเขียนให้เป็นดั่งมืออาชีพ
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                เมื่อท่านเขียนหนังสือไปสักระยะ ท่านควรพัฒนาตนเองให้เป็นมืออาชีพ เพราะการพัฒนาตนเองให้เป็นนักเขียนมืออาชีพจะทำให้ท่านเกิด รายได้มากขึ้น มีชื่อเสียงมากขึ้น ซึ่งการพัฒนาตนเองให้เป็นมืออาชีพ ท่านสามารถพัฒนาได้ดังนี้
                1.ท่านต้องมีวินัยในตัวเอง นักเขียนใหม่ๆมักจะไม่มีวินัยในตนเอง อยากจะเขียนก็เขียน เมื่อไม่มีอารมณ์เขียนก็ไม่เขียน บางวันเขียน บางวันไม่เขียน จึงทำให้ผลงานการเขียนของนักเขียนท่านนั้นออกมาอย่างไม่สม่ำเสมอ หากเป็นไปได้ท่านควรจัดสรรเวลาแต่ละวันสำหรับเขียน เมื่อท่านเขียนทุกๆวัน จนเป็นนิสัย การเขียนก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
                2.พัฒนาตนเองให้เขียนได้หลายแนวขึ้น แน่นอนในการเขียน หากจะให้ง่ายเราควรเขียนในเรื่องที่เรามีความรู้ มีความถนัด แต่หากท่านต้องการเป็นมืออาชีพ ท่านจะต้องหัดเขียนในแนวอื่นๆด้วย การเขียนหลายๆแนวจะทำให้ท่านมีฐานลูกค้ามากขึ้น การเขียนหนังสือหลายๆแนว จะทำให้ท่านมีความรู้ที่แตกฉานมากขึ้น
                3.ทำงานได้ในหลายสถานที่  นักเขียนมืออาชีพต้องมีความพร้อมในการเขียนทุกสถานที่ เนื่องจากในยุคปัจจุบัน นักเขียนหลายๆท่านต้องถูกเชิญให้ไปพูดไปบรรยายไปให้ความรู้ยังสถานที่ต่างๆ ดังนั้น นักเขียนจะต้องออกเดินทางและมีการเข้าพักตามโรงแรมต่างๆ  สถานที่ทำงานของนักเขียนจึงไม่ใช่ห้องทำงานเสมอไป นักเขียนมืออาชีพจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับการทำงาน
                4.รู้จักใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ นักเขียนมืออาชีพ ควรเรียนรู้และรู้จักใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการทำงานเช่น รู้จักใช้คอมพิวเตอร์ รู้จักหาข้อมูลผ่านทางอินเตอร์เน็ต รู้จักใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆในการทำงาน ยิ่งเป็นสมัยยุคปัจจุบัน ท่านไม่จำเป็นต้องหอบหนังสือเป็น 1,000 เล่ม ไปไหนต่อไหน ท่านสามารถอ่านหนังสือได้โดยผ่านระบบ E-book โดยดูได้จากคอมพิวเตอร์
                5.เรียนรู้หลักการตลาด นักเขียนบางท่านเขียนหนังสือได้ดีมาก แต่หนังสือเหล่านั้นขายแทบไม่ได้ แต่ตรงกันข้ามกับนักเขียนอีกหลายๆคน ที่เขียนหนังสือได้ดีน้อยกว่า แต่สามารถขายหนังสือได้มากกว่า ดังนั้นหากต้องการเขียนหนังสือให้ขายดี นักเขียนคงต้องเรียนรู้หลักการตลาดให้มากขึ้น เพราะผู้อ่านก็คือลูกค้า เราจะเขียนหรือผลิตสินค้าอย่างไรให้ลูกค้าหรือผู้อ่านของเราพอใจ จึงเป็นเรื่องที่ควรศึกษา
                6.รักษาความสม่ำเสมอ นักเขียนมืออาชีพ ควรรักษาความสม่ำเสมอของตนเอง เช่น มีผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ , งานเขียนออกมาได้มาตรฐานของตนเองสม่ำเสมอ , การกำหนดรูปเล่ม การจัดหน้าหนังสือ การสะกดคำต้องออกมาดี ไม่ผิดพลาดมาก  เป็นต้น
                7.รู้จักพัฒนาตนเองตลอดเวลา ข้อนี้มีความสำคัญมาก เพราะหากต้องการเป็นมืออาชีพ เราจะต้องมีการพัฒนาการเขียนอยู่ตลอดเวลา เราต้องอ่านหนังสือให้มาก เขียนให้มาก คิดให้มาก อีกทั้งต้องคอยปรับปรุง รูปเล่ม การจัดหน้า ให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ ดังนั้น หากต้องการเป็นนักเขียนมืออาชีพ ท่านจะต้องไม่อยู่นิ่ง ท่านจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองในการพัฒนาตนเองเสมอ
                ดังนั้น หากท่านปฏิบัติได้ตามคำแนะนำข้างต้น กระผมเชื่อแน่ว่า ท่านจะเป็นนักเขียนมืออาชีพอย่างแน่นอน ขอให้ท่านพบความสำเร็จบนเส้นทางนักเขียนมืออาชีพ

วันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประโยชน์ของการเขียนมีมากกว่าที่คุณคิด

ประโยชน์ของการเขียนมีมากกว่าที่คุณคิด
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                เมื่อพูดถึงเรื่องประโยชน์ของการเขียนหลายๆ ท่าน คงคิดว่าประโยชน์ของการเขียน สามารถเป็นอาชีพได้ ทำรายได้ได้  ทำให้มีชื่อเสียง แต่แท้ที่จริงแล้ว ประโยชน์ของการเขียนนั้นมีมากมาย
                การเขียนสามารถเปลี่ยนชีวิตของคุณได้ เพราะการเขียน เป็นกระบวนการเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์ของผู้เขียนให้เป็นตัวอักษรเพื่อนำมาถ่ายทอดให้แก่ผู้อ่าน ฉะนั้นคนที่เขียนหนังสือทุกๆวัน อย่างสม่ำเสมอจะทำให้รู้จักตัวตนของตนเอง ว่าตนเองต้องการอะไรในชีวิต เมื่อค้นหาตัวตนเจอก็จะทำให้ผู้เขียนเกิดความสุขใจ สงบใจ และยิ่งเขียนมากขึ้นผู้เขียนก็จะพบปัญญาที่มีอยู่ในตัวของผู้เขียนเอง
                การเขียนช่วยให้ท่านไม่ลืม ความจำมีประโยชน์ก็จริงอยู่ แต่มนุษย์ไม่สามารถจดจำทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมาในชีวิตของตนเองได้ การเขียนจะช่วยให้มนุษย์เราเกิดความจำขึ้น การเขียนจึงมีความสำคัญต่อความจำ เพราะหากไม่ได้เขียนหรือบันทึกไว้ มนุษย์เราก็มักจะลืมสิ่งต่างๆ ไป
                การเขียนมีประสิทธิภาพมากกว่าการพูดในบางสถานการณ์  พวกเราตอนเด็กๆ หรือตอนอบรม คงมักเคยได้เล่นเกมส์การสื่อสาร ซึ่งผู้กำหนดเกมส์ มักแบ่งผู้เล่นออกมามากกว่า  2 กลุ่ม แล้วให้แข่งขันกัน โดยให้ผู้เล่นคนที่หนึ่งอ่านข้อความซึ่งเป็นประโยคที่เมื่ออ่านแล้วผู้อ่านเกิดความสับสน เป็นประโยคที่มักจะเล่นคำ แล้วให้ผู้เล่นคนที่หนึ่งกระซิบคนต่อๆไป จนถึงคนสุดท้าย ผลออกมาคือ ประโยคที่ให้อ่านเกิดความผิดพลาดไม่เหมือนเดิม แต่ในทางกลับกัน หากว่า ผู้กำหนดเกมส์ให้ผู้เล่นทุกคนได้อ่านข้อความประโยคนั้น โดยส่งจากคนที่หนึ่ง สอง สาม สี่ ไปจนถึงคนสุดท้ายให้อ่านข้อความประโยคนั้น ความผิดพลาดจะน้อยลง
                การเขียนทำให้เกิดความอิสระขึ้นในการใช้ชีวิต  หลายอาชีพมักจะต้องมี กฎ ระเบียบ ข้อจำกัดทางด้านเวลา แต่อาชีพนักเขียน จะทำให้เราไม่ต้องยุ่งวุ่นวายกับสิ่งเหล่านี้ เช่น ไม่ต้องแต่งตัวให้ยุ่งยาก ใส่กางเกงขาสั้น เสื้อยืด นุ่งผ้าขาวม้า คุณก็สามารถประกอบอาชีพนี้ได้ อีกทั้งไม่มีเงื่อนเวลา คุณจะทำงานเขียนกี่โมงก็ได้ แล้วแต่นักเขียนแต่ละคนจะเป็นผู้กำหนดเวลาดังกล่าว
                การเขียนทำให้ประเทศเกิดการพัฒนา ก้าวหน้าขึ้น การเขียนจะช่วยให้ประชาชนในประเทศนั้นๆ มีนิสัยในการรักการอ่าน รักการเรียนรู้ มากขึ้น เมื่อประชาชนรักการอ่าน ก็จะทำให้เกิดความคิด ปัญญา มันสมอง ที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศให้รุ่งเรืองยิ่งขึ้นสืบไป
                  การเขียนช่วยในการจัดการองค์ความรู้  สังคมไทยเป็นสังคมที่ชอบพูด ชอบฟัง มากกว่าการชอบอ่าน ชอบเขียน แต่แท้ที่จริงแล้วประเทศที่เขาพัฒนาอย่างสหรัฐอเมริกา สังคมเขาจะมีนักคิด นักเขียน อยู่มาก กระผมเองได้มีโอกาสไปทำงานวิจัย และต้องสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ หาเอกสารต่างๆ แต่ปรากฏว่า บุคคลที่ต้องสัมภาษณ์ได้เสียชีวิตไปแล้ว อีกทั้งเมื่อขอข้อมูลเอกสารต่างๆ จากญาตผู้ตาย ก็ไม่มีให้ ดังนั้น หากสังคมไทยในอดีต มีการเขียน มีการจดบันทึก มีการจัดการองค์ความรู้ ก็จะทำให้ผมมีเอกสารไปทำงานวิจัย ไปวิเคราะห์ สังเคราะห์ได้ดียิ่งขึ้น  แต่ประเทศอเมริกา เขามีคนเขียนมากทำให้มีการต่อยอดองค์ความรู้  นักวิจัยของเขาสามารถไปหาอ่านงานเขียนของผู้ที่จะต้องสัมภาษณ์ นำมาเป็นข้อมูลได้ ถึงแม้บุคคลนั้นจะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม
                ดังนั้น การเขียนมีประโยชน์มากกว่าที่คุณคิด ในอดีตมีคนบอกว่า นักเขียนไส้แห้ง แต่ปัจจุบันความคิดนี้อาจต้องเปลี่ยนใหม่ เพราะ การเป็นนักเขียนที่ดี ที่เก่ง อาจสร้างตัวได้ถึงขั้นเป็น “ มหาเศรษฐี” ไปเลยก็มีให้เห็นแล้ว เช่น  เจ.เค.โรว์ลิ่ง นักเขียนเจ้าของผลงาน “ แฮร์รี่ พอตเตอร์”  หรือ  คุณสมคิด ลวางกูร นักเขียนชาวไทยที่ร่ำรวยเงินทอง มีบ้าน มีรถ มีเงินมากมาย ก็จากงานด้านการเขียนหนังสือ จนคุณสมคิด ลวางกูร ต้องจัดอบรมในหัวข้อ “ สร้าง 100 ล้านจากการเขียนหนังสือ”
                ถ้าไม่ได้เป็นนักอ่าน    ไม่ควรคิดเป็นนักเขียน และหากเป็นนักเขียน ก็ควรเขียนเพื่อพัฒนาสังคม

วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ศิลปะการเขียน

ศิลปะการเขียน
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                ใครๆก็สามารถเป็นนักเขียนได้ ถ้าหากบุคคลนั้นมีความตั้งใจและมีความปรารถนาอย่างแรงกล้า สำหรับตัวกระผมเองก็เช่นกัน ได้เริ่มต้นงานเขียน จากการเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเมื่อประมาณ สิบกว่าปีก่อน โดยเขียนทุกๆสัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 หน้า A4  ในช่วงเริ่มต้นเขียนนั้น รู้สึกว่ายากมาก แต่เมื่อเขียนบ่อยขึ้น ก็สามารถเขียนได้มากขึ้น และเร็วขึ้น
                น้ำที่ละหยดสะสมเป็นแม่น้ำ แม่น้ำที่ละเส้นสะสมเป็น ทะเล หลายท่านที่รู้จักกระผม มักถามกระผมว่า ผมออกหนังสือพกเก็ตบุ๊คขาย ต้องใช้เวลาสำหรับการเขียน 1 เล่ม ประมาณกี่วัน กี่เดือน กระผมขอบอกว่า โดยปกติกระผมได้มีโอกาสเขียนบทความลงตามสื่อต่างๆ เป็นประจำ เช่น หนังสือพิมพ์ , ลงในอินเตอร์ , ตามวารสาร ฯลฯ  ฉะนั้นสำหรับตัวกระผมคงไม่ยากและใช้เวลาไม่นานเนื่องจากกระผมสามารถนำนำบทความเหล่านั้นมารวบรวมเล่ม จัดเป็นหมวดหมู่ ขายได้
                จะเริ่มต้นอาชีพนี้อย่างไรดี คำตอบก็คือ เริ่มต้นที่ตัวท่าน ลองคิดดู ทบทวนตัวเองดู ว่าท่านมีความรู้ ประสบการณ์ด้านใดบ้าง ที่ท่านต้องการให้ผู้อ่านได้รู้  จงสื่อมันออกมาโดยผ่านตัวอักษร จงเริ่มต้นที่จะเขียนวันละเล็กวันละน้อย จนในที่สุดท่านก็จะมีผลงานการเขียนเป็นเล่มเป็นของตัวเองได้
                สารพันปัญหาในการเขียนหนังสือ หลายท่านเมื่อรู้แล้วว่าจะเขียนอะไร แต่เกิดปัญหาหลายๆอย่าง เช่น ไม่รู้จะเริ่มต้นเขียนอย่างไร ขาดความมั่นใจ อ้างว่าไม่มีเวลา ขาดสมาธิ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นข้ออ้างทั้งสิ้น หากท่านมีความตั้งใจและปรารถนาอย่างแรงกล้า ท่านจะไม่มีข้ออ้างเหล่านี้ แต่ท่านจะเขียนหนังสือไปด้วยความสนุกสนาน จงเริ่มเขียน เขียนและเขียน  แล้วท่านจะเห็นการพัฒนา การเปลี่ยนแปลง ในงานเขียนของท่าน
                จะเขียนอย่างไรให้ติด Bestseller  การที่จะขายหนังสือจนติด Bestseller นั้นมีองค์ประกอบอยู่หลายๆอย่าง ถึงแม้งานเขียนของท่านจะดีเยี่ยม แต่ขาดองค์ประกอบอื่นๆ ท่านก็ไปไม่ถึงดวงดาวได้ เช่น การออกแบบปก , การตลาดต้องดีเยี่ยม,มีการส่งเสริมการขาย , ราคาไม่แพงมากนัก ,  มีการโฆษณา ประชาสัมพันธ์...ต้องโดน เป็นต้น
                อยากเขียนเก่ง....ต้องอ่านเก่ง.....ผลของการอ่านคือการเขียน  คนที่เขียนหนังสือเก่ง มักจะต้องมีข้อมูลมากๆ ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่ได้มาจากหลายแหล่ง เช่น การฟัง การอบรม การสัมมนา การสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ แต่สิ่งที่เป็นต้นทุนและเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญที่สุดของนักเขียน ก็คือ การอ่านหนังสือ เพราะการอ่านมากจะทำให้รู้ว่า งานเขียนของใครดี งานเขียนของใครไม่ดี การอ่านมากจะทำให้ผู้เขียนได้สำนวน ภาษา ใหม่ๆ ซึ่งทำให้งานเขียนพัฒนาขึ้น
                งานเขียนที่ดีต้องมีทิศทาง งานเขียนทุกประเภทต้องมีเอกลักษณ์ ต้องมีทิศทางในการเขียน ไม่ใช่เขียนวกไปวนมา จนผู้อ่านเกิดอาการงง สับสน ไปหมด จงกำหนดโครงสร้าง ทิศทาง ประเด็นต่างๆให้มีความสอดคล้องไปในเรื่องเดียวกัน ตลอดรวมไปถึง ชื่อเรื่อง การออกแบบปกหนังสือ เนื้อใน ภาพรวมทั้งหมดควรไปในทิศทางเดียวกัน
                สาเหตุของความล้มเหลวในการเขียน หลายท่านที่เขียนหนังสือแล้วไม่ประสบความสำเร็จ อาจมาจากปัจจัยต่างๆดังนี้ เช่น ท่านเขียนในสิ่งที่ท่านไม่รู้ ไม่ถนัด ไม่ชำนาญ , ท่านไม่มีพื้นฐานที่ดี มีข้อมูลไม่มาก กล่าวคือ ท่านเป็นคนไม่ชอบอ่านหนังสือ , งานเขียนไม่มีเสน่ห์ให้ผู้อ่านชวนอ่าน , งานเขียนของท่านเต็มไปด้วยข้อผิดพลาดมากมายเช่น สะกดคำผิด ใช้ภาษา สำนวนที่ไม่ถูกต้อง เป็นต้น
                การจัดตารางชีวิตเพื่องานเขียน เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ มีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจาก การเป็นนักเขียนที่ดี มีผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ จะต้องเป็นคนที่มีวินัย ดังนั้น การบริหารเวลาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ นักเขียนจะต้องสร้างความสมดุลในการทำงาน เช่น แบ่งเวลาให้แก่งาน , แบ่งเวลาให้แก่ครอบครัว , แบ่งเวลาให้แก่สังคม , แบ่งเวลาให้แก่การออกกำลังกาย , ตลอดจนการควบคุมอารมณ์ในการทำงานเขียน ฯลฯ
                ดั้งนั้น ศิลปะการเขียน จึงเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล ท่านมีความจำเป็นต้อง หาแนวทาง หาวิธีการ ฝึกฝน เรียนรู้ เกี่ยวกับการเขียนด้วยตัวของท่านเอง  ทั้งนี้ ปัจจัยต่างๆ ของนักเขียนแต่ละท่านไม่เหมือนกัน เราจะลอกเลียนแบบหรือนำนักเขียนท่านอื่นเป็นแบบอย่างทั้งหมดไม่ได้ เพราะ คนเรามีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประสบการณ์ ความรู้  อายุ  ตลอดจนนิสัยใจคอ  จงค้นหาแนวทางการเขียนของท่านเอง แล้วท่านจะประสบความสำเร็จ

วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การเขียน Leadership on Paper

Leadership On Paper
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                การเขียนหนังสือที่ดีจะต้องสามารถนำคนอ่านให้เกิดความสนใจ เกิดการติดตาม งานเขียนของเราได้ ซึ่งต้องอาศัยศิลปะในการเขียน โดยมากมักจะมีองค์ประกอบดังนี้
                1.เขียนอย่างไรให้อ่านง่ายเข้าใจง่าย ไม่ใช่เขียนแบบน้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง เขียนแบบวกไปวนมา หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า การเขียนที่ดีต้องมีภาษาที่สละสลวย เป็นภาษากวี ที่ไพเราะ แต่ความจริงแล้ว หาเป็นเช่นนั้นไม่ งานเขียนที่ดีต้องง่ายต่อความเข้าใจของผู้อ่าน เพราะถ้ายากต่อความเข้าใจ ผู้อ่านก็ไม่อยากที่จะอ่าน เมื่อไม่อ่านต่อ ผู้เขียนก็ไม่สามารถสื่อสารให้ผู้อ่านทราบว่าเรื่องราวต่อไปจะเป็นเช่นไร
                2.กำหนดโครงเรื่อง เขียนชื่อเรื่อง เขียนหัวข้อใหญ่  หัวข้อย่อย แต่มุ่งไปประเด็นเดียวหรือทิศทางเดียวกันกับชื่อเรื่อง เพราะหากไม่มุ่งไปในทิศทางเดียวกันแล้ว จะทำให้ผู้อ่านเกิดความสับสน ซึ่งการวางโครงเรื่องที่ดี เราควรไปศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเภทของงานเขียนในประเภทต่างๆ ซึ่งมีการวางโครงเรื่องที่แตกต่างกัน เช่น การเขียนบทความที่ดี ควรมี (ชื่อเรื่อง คำนำ เนื้อหา และสรุปจบ)  หรือ โครงเรื่องของ การเขียนสารคดี ควรมี (ชื่อเรื่อง ความนำ ความตอนเชื่อมต่อระหว่างคำนำกับเนื้อเรื่อง เนื้อเรื่องและตอนลงท้าย) เป็นต้น
                3.สร้างเอกลักษณ์เป็นของตนเอง บางคนเขียนงานเขียนประเภททวนกระแส  วิพากษ์สังคม บางคนเขียน ตลก เฮฮา  บางคนเขียนแนวโรแมนติก หวานแหวว บางคนเขียน ทะลึ่งตึงตัง ลามก เป็นต้น จงหาแนวทางงานเขียนของตนเองให้เจอแล้ว ค่อยพัฒนางานเขียนของตนเองไปอย่างสม่ำเสมออย่าหยุดยั้ง แล้วสักวันหนึ่งท่านจะประสบความสำเร็จและมีคนอ่านคอยติดตามงานเขียนของท่าน
                4.จงฝึกเขียน เขียนและเขียน เป็นทักษะที่สำคัญที่สุด อย่ารักที่จะเขียนเพราะเห็นเพื่อนเขียน เห็นแก่เงินทอง แต่จงเขียนเพราะมีใจรัก   จงเขียนไปปรับปรุงแก้ไข พัฒนาไป จนกว่าจะประสบความสำเร็จ จงฝึกเขียนให้เป็นนิสัย จงฝึกเขียนเป็นประจำอยู่เสมอ หากเป็นไปได้ให้เขียนทุกๆวัน
                5. อ่านหนังสือเป็นประจำ การอ่านหนังสือของงานเขียนของนักเขียนท่านอื่นๆ เป็นประจำจะสามารถนำมาปรับปรุงงานเขียนของตนเองได้ เมื่ออ่านมากเราจะรู้ได้ว่า งานเขียนนี้ดี งานเขียนนี้ไม่ดี งานเขียนนี้มีจุดเด่นอย่างไร จุดด้อยอย่างไร เขาเขียนอย่างไรคนถึงได้สนใจ แล้วเราก็นำเทคนิคเหล่านั้นมาใช้กับงานเขียนของเรา ก็จะสามารถทำให้งานเขียนของเรามีผู้อยากอ่านเพิ่มมากขึ้น
                เขียนมาถึงตอนนี้แล้ว กระผมอยากให้ท่านผู้อ่านได้ทดลองเขียนหนังสือให้มากครับ เนื่องจากคนไทยเราเขียนหนังสือกันน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศที่เขาเจริญแล้ว ผมเองก็ได้มีโอกาสอ่านหนังสือปีๆ หนึ่งจำนวนมาก บางเล่ม ชวนให้อ่านต่อ บางเล่มซื้อมา อ่านแค่ 10-20 หน้า ก็ต้องนำไปเก็บไว้ที่ตู้เก็บหนังสือแล้ว  ไม่หยิบมาอ่านอีกเลย
                ดังนั้น Leadership On Paper  ต้องเขียนอย่างไรเพื่อให้ผู้อ่านติดตาม จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและมีความจำเป็น สำหรับนักอ่าน ที่จะต้องหาเทคนิค วิธีการ การฝึกฝน ซึ่งเทคนิคข้างต้นเป็นเทคนิคบางประการ หากท่านผู้อ่านนำไปใช้ก็จะช่วยเป็นแนวทางได้เป็นอย่างดี







วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2555

" พลังคุณธรรม จริยธรรมและพลังความสามัคคี คือพลังแห่งการสร้างชาติ "






บทความทางวิชาการ...ของ ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์..ที่ลงในวารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน ครับ...เรื่อง " พลังคุณธรรม จริยธรรมและพลังความสามัคคี คือพลังแห่งการสร้างชาติ "

วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555

หัวใจของนักเขียน

หัวใจนักเขียน
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                1.รักในงานเขียน บุคคลที่ประสบความสำเร็จไม่ว่าจะประกอบอาชีพใด อยู่ในวงการใด บุคคลที่ประสบความสำเร็จมักจะเริ่มต้นทำอาชีพนั้นเพราะความรัก หากท่านต้องการเป็นนักเขียน ท่านก็ต้องทำใจให้รักงานเขียนให้จงได้ เพราะถ้าไม่รักแล้ว ท่านก็จะทำงานเขียนไปด้วยความทุกข์ ทรมาน ไม่มีความสนุกในการเขียน จึงส่งผลกระทบต่อผลงานเขียนที่ออกมาได้
                2.รักการอ่าน หากท่านต้องการเป็นนักเขียน ท่านควรรักการอ่านด้วย เนื่องจากการอ่านจะทำให้ท่านมีวัตถุดิบหรือข้อมูลมากยิ่งขึ้นในการเขียน เมื่อท่านอ่านมากท่านจะมีความสามารถในการใช้คำ เล่นคำ ใช้โวหารต่างๆ ได้มากขึ้น
                3.มีสมาธิ การเขียนหนังสือ เราจะเป็นจะต้องมีสมาธิในการนั่งเขียน เพราะหากทำงานอื่นไปด้วย หรือ เขียนไปเขียนมาก็ไม่อยากเขียนเนื่องมาจากขาดความอดทน ขาดสมาธิ ก็จะไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากงานเขียนเป็นงานที่ต้องใช้เวลาในการเขียนและอ่าน หากขาดซึ่งสมาธิในการเขียนและอ่าน ผลงานเขียนก็คงออกมาได้อย่างช้ามาก
                4.มีการฝึกฝนและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ  งานเขียนเป็นงานที่ใช้ทักษะ เหมือนกับงานทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพูด  ช่างฝีมือ  ครู อาจารย์ ฯลฯ  งานเขียนจึงมีความจำเป็นจะต้องมีการฝึกฝนอยู่เสมอ หากเป็นไปได้ ท่านควรฝึกเขียนทุกๆ วัน แล้วท่านจะเป็นอีกผู้หนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการเป็นนักเขียน
                5.มีความสามารถในการจินตนาการและใช้ความคิด งานเขียนเป็นงานที่ต้องใช้จินตนาการบวกด้วยความคิด งานที่เขียนจึงออกมามีความแตกต่างกัน หากขาดซึ่งจินตนาการและความคิด การเขียนของท่านก็จะเหมือนกับงานเขียนของคนทั่วไป
                6.มีจรรยาบรรณ มีความรับผิดชอบต่องานเขียนของตนเอง และงานเขียนของผู้อื่น หากต้องนำงานเขียนของผู้อื่นมาใช้ เราก็ควรมีการอ้างอิงถึงแหล่งที่มา ว่าเรานำมาจากไหน ไม่เขียนให้ร้ายผู้อื่นโดยไม่มีหลักฐานหรือเพียงแค่ต้องการกลั่นแกล้งผู้อื่น ควรเขียนเพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์มากกว่าเขียนเพื่อที่จะมุ่งทำลาย
                7.มีความมั่นใจในตนเอง หากว่าท่านมีความคิดดีๆ มีจินตนาการดีๆ แต่ท่านขาดซึ่งความมั่นใจในตนเอง ไม่กล้าเขียน งานเขียนก็ไม่เกิด ดังนั้น นักเขียนต้องมีความมั่นใจในตนเอง เขียนด้วยความเชื่อมั่น เขียนด้วยความกล้า
                8.มีประสบการณ์ ประสบการณ์มีความสำคัญมากต่อการเป็นนักเขียน ประสบการณ์ในที่นี้คือประสบการณ์ชีวิต
เพราะนักเขียนที่มีประสบการณ์ชีวิตมากมักเคยผ่านสิ่งเหล่านั้นมา เมื่อมาทำงานเขียนแล้วจึงสามารถถ่ายทอดแบบให้เห็นเป็นภาพจริง ตรงกันข้ามนักเขียนที่ไม่มีประสบการณ์ บางครั้งก็ไม่สามารถถ่ายทอดเรื่องนั้นๆได้ เช่น นักเขียนที่อยู่ในคุกตะราง เวลาเขียนเรื่อง คุกตะราง ก็มักจะสื่อออกมาได้แบบสมจริงกว่านักเขียนที่ไม่เคยอยู่ในคุกหรือไม่เคยไปเห็นบรรยากาศ
                9.มีใจกว้าง ยอมรับคำวิจารณ์  เมื่องานเขียนออกมาแล้ว  อาจมีหลายท่านที่ได้วิจารณ์งานเขียนของเรา จงพร้อมที่จะยอมรับฟังคำ วิพากษ์วิจารณ์นั้น เพื่อนำมาตรวจสอบ แล้วดำเนินการแก้ไข ปรับปรุง พัฒนางานเขียนของเราต่อไปในโอกาสข้างหน้า
                10.มีความสามารถในการถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ผ่านตัวอักษร การเขียนก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับการพูด กล่าวคือ เป็นการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย เช่น การพูดเป็นการสื่อสารโดยการใช้เสียง ท่าทาง ไปยังผู้ฟัง แต่การเขียนเป็นการสื่อสารโดยผ่านตัวอักษรไปยังผู้อ่าน เป็นต้น