วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การเขียน Leadership on Paper

Leadership On Paper
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                การเขียนหนังสือที่ดีจะต้องสามารถนำคนอ่านให้เกิดความสนใจ เกิดการติดตาม งานเขียนของเราได้ ซึ่งต้องอาศัยศิลปะในการเขียน โดยมากมักจะมีองค์ประกอบดังนี้
                1.เขียนอย่างไรให้อ่านง่ายเข้าใจง่าย ไม่ใช่เขียนแบบน้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง เขียนแบบวกไปวนมา หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า การเขียนที่ดีต้องมีภาษาที่สละสลวย เป็นภาษากวี ที่ไพเราะ แต่ความจริงแล้ว หาเป็นเช่นนั้นไม่ งานเขียนที่ดีต้องง่ายต่อความเข้าใจของผู้อ่าน เพราะถ้ายากต่อความเข้าใจ ผู้อ่านก็ไม่อยากที่จะอ่าน เมื่อไม่อ่านต่อ ผู้เขียนก็ไม่สามารถสื่อสารให้ผู้อ่านทราบว่าเรื่องราวต่อไปจะเป็นเช่นไร
                2.กำหนดโครงเรื่อง เขียนชื่อเรื่อง เขียนหัวข้อใหญ่  หัวข้อย่อย แต่มุ่งไปประเด็นเดียวหรือทิศทางเดียวกันกับชื่อเรื่อง เพราะหากไม่มุ่งไปในทิศทางเดียวกันแล้ว จะทำให้ผู้อ่านเกิดความสับสน ซึ่งการวางโครงเรื่องที่ดี เราควรไปศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเภทของงานเขียนในประเภทต่างๆ ซึ่งมีการวางโครงเรื่องที่แตกต่างกัน เช่น การเขียนบทความที่ดี ควรมี (ชื่อเรื่อง คำนำ เนื้อหา และสรุปจบ)  หรือ โครงเรื่องของ การเขียนสารคดี ควรมี (ชื่อเรื่อง ความนำ ความตอนเชื่อมต่อระหว่างคำนำกับเนื้อเรื่อง เนื้อเรื่องและตอนลงท้าย) เป็นต้น
                3.สร้างเอกลักษณ์เป็นของตนเอง บางคนเขียนงานเขียนประเภททวนกระแส  วิพากษ์สังคม บางคนเขียน ตลก เฮฮา  บางคนเขียนแนวโรแมนติก หวานแหวว บางคนเขียน ทะลึ่งตึงตัง ลามก เป็นต้น จงหาแนวทางงานเขียนของตนเองให้เจอแล้ว ค่อยพัฒนางานเขียนของตนเองไปอย่างสม่ำเสมออย่าหยุดยั้ง แล้วสักวันหนึ่งท่านจะประสบความสำเร็จและมีคนอ่านคอยติดตามงานเขียนของท่าน
                4.จงฝึกเขียน เขียนและเขียน เป็นทักษะที่สำคัญที่สุด อย่ารักที่จะเขียนเพราะเห็นเพื่อนเขียน เห็นแก่เงินทอง แต่จงเขียนเพราะมีใจรัก   จงเขียนไปปรับปรุงแก้ไข พัฒนาไป จนกว่าจะประสบความสำเร็จ จงฝึกเขียนให้เป็นนิสัย จงฝึกเขียนเป็นประจำอยู่เสมอ หากเป็นไปได้ให้เขียนทุกๆวัน
                5. อ่านหนังสือเป็นประจำ การอ่านหนังสือของงานเขียนของนักเขียนท่านอื่นๆ เป็นประจำจะสามารถนำมาปรับปรุงงานเขียนของตนเองได้ เมื่ออ่านมากเราจะรู้ได้ว่า งานเขียนนี้ดี งานเขียนนี้ไม่ดี งานเขียนนี้มีจุดเด่นอย่างไร จุดด้อยอย่างไร เขาเขียนอย่างไรคนถึงได้สนใจ แล้วเราก็นำเทคนิคเหล่านั้นมาใช้กับงานเขียนของเรา ก็จะสามารถทำให้งานเขียนของเรามีผู้อยากอ่านเพิ่มมากขึ้น
                เขียนมาถึงตอนนี้แล้ว กระผมอยากให้ท่านผู้อ่านได้ทดลองเขียนหนังสือให้มากครับ เนื่องจากคนไทยเราเขียนหนังสือกันน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศที่เขาเจริญแล้ว ผมเองก็ได้มีโอกาสอ่านหนังสือปีๆ หนึ่งจำนวนมาก บางเล่ม ชวนให้อ่านต่อ บางเล่มซื้อมา อ่านแค่ 10-20 หน้า ก็ต้องนำไปเก็บไว้ที่ตู้เก็บหนังสือแล้ว  ไม่หยิบมาอ่านอีกเลย
                ดังนั้น Leadership On Paper  ต้องเขียนอย่างไรเพื่อให้ผู้อ่านติดตาม จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและมีความจำเป็น สำหรับนักอ่าน ที่จะต้องหาเทคนิค วิธีการ การฝึกฝน ซึ่งเทคนิคข้างต้นเป็นเทคนิคบางประการ หากท่านผู้อ่านนำไปใช้ก็จะช่วยเป็นแนวทางได้เป็นอย่างดี







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น