วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ศิลปะการเขียน

ศิลปะการเขียน
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                ใครๆก็สามารถเป็นนักเขียนได้ ถ้าหากบุคคลนั้นมีความตั้งใจและมีความปรารถนาอย่างแรงกล้า สำหรับตัวกระผมเองก็เช่นกัน ได้เริ่มต้นงานเขียน จากการเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเมื่อประมาณ สิบกว่าปีก่อน โดยเขียนทุกๆสัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 หน้า A4  ในช่วงเริ่มต้นเขียนนั้น รู้สึกว่ายากมาก แต่เมื่อเขียนบ่อยขึ้น ก็สามารถเขียนได้มากขึ้น และเร็วขึ้น
                น้ำที่ละหยดสะสมเป็นแม่น้ำ แม่น้ำที่ละเส้นสะสมเป็น ทะเล หลายท่านที่รู้จักกระผม มักถามกระผมว่า ผมออกหนังสือพกเก็ตบุ๊คขาย ต้องใช้เวลาสำหรับการเขียน 1 เล่ม ประมาณกี่วัน กี่เดือน กระผมขอบอกว่า โดยปกติกระผมได้มีโอกาสเขียนบทความลงตามสื่อต่างๆ เป็นประจำ เช่น หนังสือพิมพ์ , ลงในอินเตอร์ , ตามวารสาร ฯลฯ  ฉะนั้นสำหรับตัวกระผมคงไม่ยากและใช้เวลาไม่นานเนื่องจากกระผมสามารถนำนำบทความเหล่านั้นมารวบรวมเล่ม จัดเป็นหมวดหมู่ ขายได้
                จะเริ่มต้นอาชีพนี้อย่างไรดี คำตอบก็คือ เริ่มต้นที่ตัวท่าน ลองคิดดู ทบทวนตัวเองดู ว่าท่านมีความรู้ ประสบการณ์ด้านใดบ้าง ที่ท่านต้องการให้ผู้อ่านได้รู้  จงสื่อมันออกมาโดยผ่านตัวอักษร จงเริ่มต้นที่จะเขียนวันละเล็กวันละน้อย จนในที่สุดท่านก็จะมีผลงานการเขียนเป็นเล่มเป็นของตัวเองได้
                สารพันปัญหาในการเขียนหนังสือ หลายท่านเมื่อรู้แล้วว่าจะเขียนอะไร แต่เกิดปัญหาหลายๆอย่าง เช่น ไม่รู้จะเริ่มต้นเขียนอย่างไร ขาดความมั่นใจ อ้างว่าไม่มีเวลา ขาดสมาธิ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นข้ออ้างทั้งสิ้น หากท่านมีความตั้งใจและปรารถนาอย่างแรงกล้า ท่านจะไม่มีข้ออ้างเหล่านี้ แต่ท่านจะเขียนหนังสือไปด้วยความสนุกสนาน จงเริ่มเขียน เขียนและเขียน  แล้วท่านจะเห็นการพัฒนา การเปลี่ยนแปลง ในงานเขียนของท่าน
                จะเขียนอย่างไรให้ติด Bestseller  การที่จะขายหนังสือจนติด Bestseller นั้นมีองค์ประกอบอยู่หลายๆอย่าง ถึงแม้งานเขียนของท่านจะดีเยี่ยม แต่ขาดองค์ประกอบอื่นๆ ท่านก็ไปไม่ถึงดวงดาวได้ เช่น การออกแบบปก , การตลาดต้องดีเยี่ยม,มีการส่งเสริมการขาย , ราคาไม่แพงมากนัก ,  มีการโฆษณา ประชาสัมพันธ์...ต้องโดน เป็นต้น
                อยากเขียนเก่ง....ต้องอ่านเก่ง.....ผลของการอ่านคือการเขียน  คนที่เขียนหนังสือเก่ง มักจะต้องมีข้อมูลมากๆ ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่ได้มาจากหลายแหล่ง เช่น การฟัง การอบรม การสัมมนา การสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ แต่สิ่งที่เป็นต้นทุนและเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญที่สุดของนักเขียน ก็คือ การอ่านหนังสือ เพราะการอ่านมากจะทำให้รู้ว่า งานเขียนของใครดี งานเขียนของใครไม่ดี การอ่านมากจะทำให้ผู้เขียนได้สำนวน ภาษา ใหม่ๆ ซึ่งทำให้งานเขียนพัฒนาขึ้น
                งานเขียนที่ดีต้องมีทิศทาง งานเขียนทุกประเภทต้องมีเอกลักษณ์ ต้องมีทิศทางในการเขียน ไม่ใช่เขียนวกไปวนมา จนผู้อ่านเกิดอาการงง สับสน ไปหมด จงกำหนดโครงสร้าง ทิศทาง ประเด็นต่างๆให้มีความสอดคล้องไปในเรื่องเดียวกัน ตลอดรวมไปถึง ชื่อเรื่อง การออกแบบปกหนังสือ เนื้อใน ภาพรวมทั้งหมดควรไปในทิศทางเดียวกัน
                สาเหตุของความล้มเหลวในการเขียน หลายท่านที่เขียนหนังสือแล้วไม่ประสบความสำเร็จ อาจมาจากปัจจัยต่างๆดังนี้ เช่น ท่านเขียนในสิ่งที่ท่านไม่รู้ ไม่ถนัด ไม่ชำนาญ , ท่านไม่มีพื้นฐานที่ดี มีข้อมูลไม่มาก กล่าวคือ ท่านเป็นคนไม่ชอบอ่านหนังสือ , งานเขียนไม่มีเสน่ห์ให้ผู้อ่านชวนอ่าน , งานเขียนของท่านเต็มไปด้วยข้อผิดพลาดมากมายเช่น สะกดคำผิด ใช้ภาษา สำนวนที่ไม่ถูกต้อง เป็นต้น
                การจัดตารางชีวิตเพื่องานเขียน เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ มีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจาก การเป็นนักเขียนที่ดี มีผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ จะต้องเป็นคนที่มีวินัย ดังนั้น การบริหารเวลาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ นักเขียนจะต้องสร้างความสมดุลในการทำงาน เช่น แบ่งเวลาให้แก่งาน , แบ่งเวลาให้แก่ครอบครัว , แบ่งเวลาให้แก่สังคม , แบ่งเวลาให้แก่การออกกำลังกาย , ตลอดจนการควบคุมอารมณ์ในการทำงานเขียน ฯลฯ
                ดั้งนั้น ศิลปะการเขียน จึงเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล ท่านมีความจำเป็นต้อง หาแนวทาง หาวิธีการ ฝึกฝน เรียนรู้ เกี่ยวกับการเขียนด้วยตัวของท่านเอง  ทั้งนี้ ปัจจัยต่างๆ ของนักเขียนแต่ละท่านไม่เหมือนกัน เราจะลอกเลียนแบบหรือนำนักเขียนท่านอื่นเป็นแบบอย่างทั้งหมดไม่ได้ เพราะ คนเรามีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประสบการณ์ ความรู้  อายุ  ตลอดจนนิสัยใจคอ  จงค้นหาแนวทางการเขียนของท่านเอง แล้วท่านจะประสบความสำเร็จ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น