หัวใจนักเขียน
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
1.รักในงานเขียน บุคคลที่ประสบความสำเร็จไม่ว่าจะประกอบอาชีพใด อยู่ในวงการใด บุคคลที่ประสบความสำเร็จมักจะเริ่มต้นทำอาชีพนั้นเพราะความรัก หากท่านต้องการเป็นนักเขียน ท่านก็ต้องทำใจให้รักงานเขียนให้จงได้ เพราะถ้าไม่รักแล้ว ท่านก็จะทำงานเขียนไปด้วยความทุกข์ ทรมาน ไม่มีความสนุกในการเขียน จึงส่งผลกระทบต่อผลงานเขียนที่ออกมาได้
2.รักการอ่าน หากท่านต้องการเป็นนักเขียน ท่านควรรักการอ่านด้วย เนื่องจากการอ่านจะทำให้ท่านมีวัตถุดิบหรือข้อมูลมากยิ่งขึ้นในการเขียน เมื่อท่านอ่านมากท่านจะมีความสามารถในการใช้คำ เล่นคำ ใช้โวหารต่างๆ ได้มากขึ้น
3.มีสมาธิ การเขียนหนังสือ เราจะเป็นจะต้องมีสมาธิในการนั่งเขียน เพราะหากทำงานอื่นไปด้วย หรือ เขียนไปเขียนมาก็ไม่อยากเขียนเนื่องมาจากขาดความอดทน ขาดสมาธิ ก็จะไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากงานเขียนเป็นงานที่ต้องใช้เวลาในการเขียนและอ่าน หากขาดซึ่งสมาธิในการเขียนและอ่าน ผลงานเขียนก็คงออกมาได้อย่างช้ามาก
4.มีการฝึกฝนและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ งานเขียนเป็นงานที่ใช้ทักษะ เหมือนกับงานทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพูด ช่างฝีมือ ครู อาจารย์ ฯลฯ งานเขียนจึงมีความจำเป็นจะต้องมีการฝึกฝนอยู่เสมอ หากเป็นไปได้ ท่านควรฝึกเขียนทุกๆ วัน แล้วท่านจะเป็นอีกผู้หนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการเป็นนักเขียน
5.มีความสามารถในการจินตนาการและใช้ความคิด งานเขียนเป็นงานที่ต้องใช้จินตนาการบวกด้วยความคิด งานที่เขียนจึงออกมามีความแตกต่างกัน หากขาดซึ่งจินตนาการและความคิด การเขียนของท่านก็จะเหมือนกับงานเขียนของคนทั่วไป
6.มีจรรยาบรรณ มีความรับผิดชอบต่องานเขียนของตนเอง และงานเขียนของผู้อื่น หากต้องนำงานเขียนของผู้อื่นมาใช้ เราก็ควรมีการอ้างอิงถึงแหล่งที่มา ว่าเรานำมาจากไหน ไม่เขียนให้ร้ายผู้อื่นโดยไม่มีหลักฐานหรือเพียงแค่ต้องการกลั่นแกล้งผู้อื่น ควรเขียนเพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์มากกว่าเขียนเพื่อที่จะมุ่งทำลาย
7.มีความมั่นใจในตนเอง หากว่าท่านมีความคิดดีๆ มีจินตนาการดีๆ แต่ท่านขาดซึ่งความมั่นใจในตนเอง ไม่กล้าเขียน งานเขียนก็ไม่เกิด ดังนั้น นักเขียนต้องมีความมั่นใจในตนเอง เขียนด้วยความเชื่อมั่น เขียนด้วยความกล้า
8.มีประสบการณ์ ประสบการณ์มีความสำคัญมากต่อการเป็นนักเขียน ประสบการณ์ในที่นี้คือประสบการณ์ชีวิต
เพราะนักเขียนที่มีประสบการณ์ชีวิตมากมักเคยผ่านสิ่งเหล่านั้นมา เมื่อมาทำงานเขียนแล้วจึงสามารถถ่ายทอดแบบให้เห็นเป็นภาพจริง ตรงกันข้ามนักเขียนที่ไม่มีประสบการณ์ บางครั้งก็ไม่สามารถถ่ายทอดเรื่องนั้นๆได้ เช่น นักเขียนที่อยู่ในคุกตะราง เวลาเขียนเรื่อง คุกตะราง ก็มักจะสื่อออกมาได้แบบสมจริงกว่านักเขียนที่ไม่เคยอยู่ในคุกหรือไม่เคยไปเห็นบรรยากาศ
9.มีใจกว้าง ยอมรับคำวิจารณ์ เมื่องานเขียนออกมาแล้ว อาจมีหลายท่านที่ได้วิจารณ์งานเขียนของเรา จงพร้อมที่จะยอมรับฟังคำ วิพากษ์วิจารณ์นั้น เพื่อนำมาตรวจสอบ แล้วดำเนินการแก้ไข ปรับปรุง พัฒนางานเขียนของเราต่อไปในโอกาสข้างหน้า
10.มีความสามารถในการถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ผ่านตัวอักษร การเขียนก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับการพูด กล่าวคือ เป็นการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย เช่น การพูดเป็นการสื่อสารโดยการใช้เสียง ท่าทาง ไปยังผู้ฟัง แต่การเขียนเป็นการสื่อสารโดยผ่านตัวอักษรไปยังผู้อ่าน เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น