วิธีฝึกการพูดของ หลวงวิจิตรวาทการ
โดย..ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก
หลวงวิจิตรวาทการ เป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ชาติไทยเรา
ท่านได้ทำงานในหลากหลายบทบาท เริ่มจากการเป็นนักธรรม เป็นข้าราชการ
เป็นนักการเมือง เป็นนักการทูต เป็นอาจารย์ เป็นนักประพันธ์ เป็นนักปราชญ์ จากบทบาทต่างๆข้างต้น
ได้ส่งผลให้ท่านได้รับตำแหน่งมากมาย เช่น
อธิบดีกรมกรมพิธีการทูต ,
รัฐมนตรีและอธิบดีกรมศิลปากร , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ,
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ,
เอกอัครราชทูตไทยประจำอินเดีย , สวิตเซอร์แลนด์ , ออสเตรีย และยูโกสลาเวีย
เป็นต้น และได้รับยศทางทหารสูงสุดถึง
พลตรี
ในด้านการพูดท่านเป็นนักพูดที่มีชื่อเสียง
ท่านเป็นนักพูดทางวิชาการที่สามารถพูดเนื้อหาสาระซึ่งฟังได้อย่างเพลิดเพลิน
การใช้ถ้อยคำของท่านใช้ถ้อยคำที่ง่ายๆ เต็มไปด้วยพลัง
มีการลำดับขั้นตอนที่ไม่สับสน มีลีลาการพูดที่เรียบร้อย
แต่สามารถตรึงความสนใจของผู้ฟังตั้งแต่ต้นจนจบ
หลวงวิจิตรวาทการ
ไม่ได้เป็นคนพูดเก่งมาตั้งแต่เกิด แต่ตรงกันข้าม
หลวงวิจิตรวาทการเป็นคนที่พูดติดอ่าง ซึ่งเป็นอุปสรรคเป็นอันมากต่อการสื่อสาร หลังจากนั้นท่านได้ทำการแก้ไขตนเองจนกระทั่งพัฒนาตนเองมาเป็นนักพูดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาติไทย
สำหรับคนที่มีปัญหาพูดติดอ่าง ท่านได้แนะนำวิธีการแก้ไข การพูดติดอ่างไว้ 2 ประการ คือ
1.พยายามทำให้คำพูดหนักแน่นเป็นจังหวะสม่ำเสมอ
2.พยายามเป็นนายตัวเอง
และมีดวงจิตเป็นสมาธิแน่วแน่อยู่เสมอ
สำหรับวิธีฝึกการพูดของ
หลวงวิจิตรวาทการ ท่านได้แสดงปาฐกถาและมีคนนำเอามาทำเป็นหนังสือเป็นจำนวนมาก
ปาฐกถา ชื่อเรื่อง สมบัติของนักพูด โดยมีใจความสรุปย่อๆดังนี้
ประการที่
1 จงทำตัวให้เป็นคนทันสมัย ทันเหตุการณ์ ท่านแนะนำให้อ่านหนังสือพิมพ์รายวันฉบับที่ดีๆ
อย่างน้อยวันละฉบับ การอ่านหนังสือพิมพ์จะทำให้เราพูดเก่ง
มีเรื่องที่จะสนทนาและทำให้เป็นคนที่ทันสมัยอยู่เสมอ
ประการที่
2 พยายามท่องจำสุภาษิต คำพังเพย ให้มากๆ
เพราะสุภาษิตหรือคำพังเพย เหล่านี้กว่าจะมีขึ้นมาได้ ผู้ตั้งสุภาษิตหรือคำพังเพยต้องใช้เวลาคิดแล้วคิดอีก
ผู้ที่จดจำสุภาษิตได้มากๆย่อมสามารถคิดคำพูดที่สละสลวยขึ้นมาได้
ประการที่
3 เวลาอ่านหนังสือต่างๆ ที่มีผู้แต่งดีๆ
ควรจะจดถ้อยคำที่คมคายเอาไว้ เพื่อใช้ในการพูด และควรที่จะท่องจำให้ได้มากๆ
เพราะถ้าหากเราท่องจำได้มากๆ ย่อมจะทำให้เราเกิดมีความคิดที่จะหาคำพูดที่คมคายใหม่ๆ
มาเป็นของเราได้
ประการที่
4 สมาธิ คือ ความคิดแน่วแน่อยู่ในถ้อยคำที่เราพูด
อย่าให้มีอะไรมารบกวนใจในเวลาพูด เป็นนายของตนเอง มีดวงจิตที่แน่วแน่
อีกทั้งควรพูดให้มีน้ำหนักคือจะต้องพูดให้ชัดถ้อยชัดคำ
รู้จักเน้นคำตรงที่ควรจะเน้น ส่วนเสียงไม่ดีไม่เป็นของสำคัญ
เพราะคนที่มีเสียงไม่ดีเลย แต่ก็เป็นนักพูดที่ดีก็มีถมไป
แต่ควรพูดให้เกิดความกระจ่างแจ้ง ควรพูดช้าๆให้เป็นจังหวะสม่ำเสมอ
บางประโยคก็ควรพูดเร็วกว่าธรรมดา หรือควรพูดช้ากว่าธรรมดา
อีกประการหนึ่งที่หลวงวิจิตรวาทการให้คำแนะนำคือ ท่าทาง มีคนเป็นจำนวนมากคิดว่า
การออกท่าทางประกอบการพูดให้มากๆ เป็นการดี แต่ที่จริงแล้วจะกลับทำให้คำพูดเสียไป
หลวงวิจิตรวาทการ สังเกตจากการที่ท่านได้เข้าร่วมประชุมนานาประเทศครั้งใหญ่ๆ
ท่านสังเกตเห็นว่า นักพูดที่เก่งที่สุดนั้น เขาจะใช้ท่าทางน้อยที่สุด เขาจะระวังไม่ให้โยกโคลง
แต่จะมีการเคลื่อนไหวบ้างก็แต่เล็กน้อย และมีการเคลื่อนไหวที่มีความหนักแน่นอยู่ในตัวเสมอ
ทั้ง
4 ประการนี้ ข้างต้นนี้
ท่านสามารถหาอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากหนังสือ การพูดเบื้องต้น ของ
รศ.ฉัตรวรุณ ตันนะรัตน์
ซึ่งเป็นหนังสือเรียนรายวิชา MC130 ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง