วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2557

วิธีฝึกการพูดของ หลวงวิจิตรวาทการ


วิธีฝึกการพูดของ หลวงวิจิตรวาทการ

โดย..ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก


                หลวงวิจิตรวาทการ เป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ชาติไทยเรา ท่านได้ทำงานในหลากหลายบทบาท เริ่มจากการเป็นนักธรรม เป็นข้าราชการ เป็นนักการเมือง เป็นนักการทูต เป็นอาจารย์ เป็นนักประพันธ์ เป็นนักปราชญ์ จากบทบาทต่างๆข้างต้น ได้ส่งผลให้ท่านได้รับตำแหน่งมากมาย เช่น

อธิบดีกรมกรมพิธีการทูต , รัฐมนตรีและอธิบดีกรมศิลปากร , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ,  เอกอัครราชทูตไทยประจำอินเดีย , สวิตเซอร์แลนด์ , ออสเตรีย และยูโกสลาเวีย เป็นต้น  และได้รับยศทางทหารสูงสุดถึง พลตรี

                ในด้านการพูดท่านเป็นนักพูดที่มีชื่อเสียง ท่านเป็นนักพูดทางวิชาการที่สามารถพูดเนื้อหาสาระซึ่งฟังได้อย่างเพลิดเพลิน การใช้ถ้อยคำของท่านใช้ถ้อยคำที่ง่ายๆ เต็มไปด้วยพลัง มีการลำดับขั้นตอนที่ไม่สับสน มีลีลาการพูดที่เรียบร้อย แต่สามารถตรึงความสนใจของผู้ฟังตั้งแต่ต้นจนจบ

                หลวงวิจิตรวาทการ ไม่ได้เป็นคนพูดเก่งมาตั้งแต่เกิด แต่ตรงกันข้าม หลวงวิจิตรวาทการเป็นคนที่พูดติดอ่าง ซึ่งเป็นอุปสรรคเป็นอันมากต่อการสื่อสาร หลังจากนั้นท่านได้ทำการแก้ไขตนเองจนกระทั่งพัฒนาตนเองมาเป็นนักพูดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาติไทย สำหรับคนที่มีปัญหาพูดติดอ่าง ท่านได้แนะนำวิธีการแก้ไข การพูดติดอ่างไว้ 2 ประการ คือ

1.พยายามทำให้คำพูดหนักแน่นเป็นจังหวะสม่ำเสมอ

2.พยายามเป็นนายตัวเอง และมีดวงจิตเป็นสมาธิแน่วแน่อยู่เสมอ  

สำหรับวิธีฝึกการพูดของ หลวงวิจิตรวาทการ ท่านได้แสดงปาฐกถาและมีคนนำเอามาทำเป็นหนังสือเป็นจำนวนมาก ปาฐกถา ชื่อเรื่อง สมบัติของนักพูด โดยมีใจความสรุปย่อๆดังนี้

ประการที่ 1 จงทำตัวให้เป็นคนทันสมัย ทันเหตุการณ์ ท่านแนะนำให้อ่านหนังสือพิมพ์รายวันฉบับที่ดีๆ อย่างน้อยวันละฉบับ การอ่านหนังสือพิมพ์จะทำให้เราพูดเก่ง มีเรื่องที่จะสนทนาและทำให้เป็นคนที่ทันสมัยอยู่เสมอ

ประการที่ 2 พยายามท่องจำสุภาษิต คำพังเพย ให้มากๆ เพราะสุภาษิตหรือคำพังเพย เหล่านี้กว่าจะมีขึ้นมาได้ ผู้ตั้งสุภาษิตหรือคำพังเพยต้องใช้เวลาคิดแล้วคิดอีก ผู้ที่จดจำสุภาษิตได้มากๆย่อมสามารถคิดคำพูดที่สละสลวยขึ้นมาได้

ประการที่ 3 เวลาอ่านหนังสือต่างๆ ที่มีผู้แต่งดีๆ ควรจะจดถ้อยคำที่คมคายเอาไว้ เพื่อใช้ในการพูด และควรที่จะท่องจำให้ได้มากๆ เพราะถ้าหากเราท่องจำได้มากๆ ย่อมจะทำให้เราเกิดมีความคิดที่จะหาคำพูดที่คมคายใหม่ๆ มาเป็นของเราได้

ประการที่ 4 สมาธิ คือ ความคิดแน่วแน่อยู่ในถ้อยคำที่เราพูด อย่าให้มีอะไรมารบกวนใจในเวลาพูด เป็นนายของตนเอง มีดวงจิตที่แน่วแน่ อีกทั้งควรพูดให้มีน้ำหนักคือจะต้องพูดให้ชัดถ้อยชัดคำ รู้จักเน้นคำตรงที่ควรจะเน้น ส่วนเสียงไม่ดีไม่เป็นของสำคัญ เพราะคนที่มีเสียงไม่ดีเลย แต่ก็เป็นนักพูดที่ดีก็มีถมไป แต่ควรพูดให้เกิดความกระจ่างแจ้ง ควรพูดช้าๆให้เป็นจังหวะสม่ำเสมอ บางประโยคก็ควรพูดเร็วกว่าธรรมดา หรือควรพูดช้ากว่าธรรมดา อีกประการหนึ่งที่หลวงวิจิตรวาทการให้คำแนะนำคือ ท่าทาง มีคนเป็นจำนวนมากคิดว่า การออกท่าทางประกอบการพูดให้มากๆ เป็นการดี แต่ที่จริงแล้วจะกลับทำให้คำพูดเสียไป หลวงวิจิตรวาทการ สังเกตจากการที่ท่านได้เข้าร่วมประชุมนานาประเทศครั้งใหญ่ๆ ท่านสังเกตเห็นว่า นักพูดที่เก่งที่สุดนั้น เขาจะใช้ท่าทางน้อยที่สุด เขาจะระวังไม่ให้โยกโคลง แต่จะมีการเคลื่อนไหวบ้างก็แต่เล็กน้อย และมีการเคลื่อนไหวที่มีความหนักแน่นอยู่ในตัวเสมอ

ทั้ง 4 ประการนี้ ข้างต้นนี้ ท่านสามารถหาอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากหนังสือ การพูดเบื้องต้น ของ รศ.ฉัตรวรุณ  ตันนะรัตน์ ซึ่งเป็นหนังสือเรียนรายวิชา MC130 ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง

 

 

วิธีการฝึกการพูดของ พันเอก ปิ่น มุทุกันต์


วีธีการฝึกการพูดของ พันเอก ปิ่น มุทุกันต์

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก


                พันเอก ปิ่น  มุทุกันต์ เป็นนักพูดลือนามในอดีตของไทยเรา เริ่มชีวิตการเป็นนักพูดจากการเป็นสามเณร ซึ่งท่านเทศน์ได้ไพเราะและมีสาระที่ดีมาก ต่อมาได้อุปสมบทที่วัดเกาะได้รับฉายาในพระพุทธศาสนาว่า “วิริยากโร”

                ในขณะที่เป็นพระ ท่านก็เป็นพระนักเทศน์ที่มีชื่อเสียง ท่านต้องเดินทางไปเทศน์ยังต่างจังหวัด ซึ่งต้องเดินทางเป็นประจำ สำหรับลีลาการเทศน์ของท่านในขณะนั้น ท่านมักที่จะประยุกต์แนวความคิดและวิธีการใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ในการเทศน์ อีกทั้งท่านมีน้ำเสียงที่ห้าวๆ แต่มีความแจ่มใส สามารถสะกดใจผู้ฟังได้ จึงทำให้การเทศน์ของท่านมีสาระเร้าใจคนฟังอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งทำให้เกิดความสนุกไม่เบื่อ ฟังง่าย นับได้ว่าเป็นนักเทศน์ที่มีความคิดก้าวหน้า กล้าคิด กล้าทำ ในยุคนั้น

                สำหรับวิธีการฝึกการพูดของ พันเอก ปิ่น มุทุกันต์ ท่านได้เขียนและพูดไว้ในหลายที่ ซึ่งสามารถสรุปย่อๆได้ดังนี้

                วิธีที่ 1 ท่องจำเอาคำพูดของท่านผู้อื่น ตอนที่พันเอก ปิ่น มุทุกันต์ ได้เริ่มฝึกการพูดใหม่ๆ ตอนสมัยเป็นสามเณร ท่านมีความประทับใจนักเทศน์ท่านหนึ่งคือ ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ สิริจันโท วัดบรมนิวาส ซึ่งเป็นพระนักเทศน์ที่ไปเทศน์ที่ไหนคนชอบคนอยากฟัง

                ท่านจึงได้ไปฟังการเทศน์แล้วก็จดจำคำพูด อีกทั้งเมื่อได้รับหนังสือพระธรรมเทศนากัณฑ์ อัตตาหิ อัตตโนนาโถ ท่านได้ท่องจำคำเทศน์จนคล่องปาก วันหนึ่ง ชาวบ้านได้นิมนต์ท่านไปเทศน์งานบุญแห่งหนึ่ง ท่านก็ได้เทศน์ปากเปล่าตามที่ท่านได้ท่องจำเอาไว้ จนกระทั่งชาวบ้านติดอกติดใจ ต่อมาท่านก็ได้มีการขยาย ต่อเติม เชื่อมคำพูดต่างๆลงไปในกัณฑ์เทศน์นั้น จนกระทั่งเกิดความสมบูรณ์ขึ้น

                วิธีที่ 2 ขยันตามฟังคนอื่นพูด พันเอก ปิ่น มุทุกันต์ มักจะติดตามฟังคนที่พูดเก่งและคนที่พูดไม่เก่ง เพื่อศึกษาดูสไตล์ เวลาฟังก็จะจดว่าตรงไหนดี ท่านก็จะทำเอาไปใช้ ตรงไหนไม่ดี ท่านก็ทิ้งไป สำหรับการฟังท่านจะติดตามฟัง นักพูดท่านหนึ่งๆหลายๆครั้ง ไม่ใช่ฟังนักพูดท่านนั้น เพียงแค่ครั้งเดียว แล้วไม่ไปฟังอีก เพราะการติดตามฟังซ้ำๆจะทำให้เราทราบสไตล์ของนักพูดท่านนั้น

                วิธีที่ 3 หัดอ่านหนังสือให้เป็น พันเอก ปิ่น มุทุกันต์ กล่าวว่า การอ่านหนังสือออกกับการอ่านหนังสือเป็น  ไม่เหมือนกัน การอ่านที่ว่า  ท่าน หมายถึง การหัดอ่านออกเสียง อ่านให้เหมือนกับการพูด คือต้องมีเสียงสูง เสียงต่ำ มีหนัก มีเบา มีประโยคสั้น ประโยคยาว มีเว้นวรรค มีหยุด ฉะนั้นการอ่านหนังสือต้องทำให้เหมือนกับการพูด  ฉะนั้นขอให้ฝึกอ่านหนังสือออกเสียง ไม่ใช่อ่านหนังสือในใจ

                วิธีที่ 4 หัดย่อความ-ขยายความ พันเอก ปิ่น มุทุกันต์ กล่าวว่า การฝึกย่อความและขยายความมีประโยชน์ในการเป็นนักพูดและนักเขียนเป็นอันมาก และท่านแนะนำให้ฝึกย่อความก่อน

การย่อความท่านเปรียบดังการเก็บของลงในกระเป๋าเดินทาง ต้องรู้ว่าชนิดและขนาดของของที่จะใส่ลงไป จึงจะบรรจุได้ดี อีกทั้งต้องรู้ว่าอะไรควรใส่ก่อนและใส่ทีหลัง ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการวางแผน  

การขยายความ ท่านเปรียบเสมือน การรื้อของออกจากกระเป๋า ผู้รื้อจะต้องเข้าใจว่า จะเอาอะไรขึ้นมาก่อน จะเอาอะไรขึ้นมาทีหลัง คล้ายๆกับการบรรจุ และพันเอก ปิ่น มุทุกันต์ ท่านแสดงความคิดเห็นว่า การบรรจุยากกว่าการรื้อ เพราะคนบรรจุเป็นมักรื้อเป็นทุกคน แต่คนรื้อเป็นไม่แน่ว่าจะบรรจุเป็นทุกคน

นี่คือวิธีการฝึกการพูดของ พันเอก ปิ่น มุทุกันต์ โดยย่อๆ หากว่าท่านผู้อ่านต้องการศึกษาเพิ่มเติมท่านสามารถไปหาอ่านได้เพิ่มเติมจากหนังสือ  ประวัตินักพูดไทยเล่มที่ 1

หลังจากบวชได้เป็นเวลานาน  ต่อมา พันเอก ปิ่น มุทุกันต์ จึงได้ตัดสินใจลาสิกขา แล้วก็ได้เข้าสอบเป็นอนุศาสนาจารย์ทหารบกซึ่งสอบข้อเขียนได้ที่ 1 หลังจากนั้นก็ได้ถูกเชิญให้ไปพูดในหลายๆหัวข้อ ให้กับผู้คนในหลายๆกลุ่ม ซึ่งภาพพจน์ของท่านในเวลานั้น ท่านเป็นนักพูดธรรมะทางวิทยุโทรทัศน์ และวงอภิปรายในสถาบันต่างๆ เช่น  มหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียนนายร้อย โรงเรียนนายอำเภอ เป็นต้น

จนในเวลาต่อมาได้มีคนนำเอาคำพูดของท่านมาทำเป็นหนังสือแล้วก็ถูกตีพิมพ์เป็นจำนวนมาก นับเป็นมรดกที่สำคัญที่ท่านส่งมอบให้กับสังคมไทย

 

               

วิธีการฝึกพูดของ ดิสราเอลี


วิธีการฝึกพูดของ ดิสราเอลี

จากคนพูดติดอ่าง กลายเป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก


                ดิสราเอลี เป็นชาวยิว มีความสามารถที่หลากหลาย แต่มีสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่นของดิสราเอลี คือการพูด จึงทำให้เขามีชื่อเสียงจนกระทั่งได้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นก็ได้รับการยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษคนสำคัญของประเทศอังกฤษ

                ดิสราเอลี เป็นคนพูดติดอ่างมาตั้งแต่เด็ก แต่เขาอยากเด่น อยากดัง อยากเล่นการเมือง เขาจึงฝึกการพูด จนในที่สุด เขาแก้ไขการพูดที่ติดอ่างจนได้ หลังจากนั้นการพูดของ ดิสราเอลี ก็ดีขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งได้เป็น ผู้แทนราษฏรครั้งแรกขณะได้อายุ 32 ปี

                ดิสราเอลี พูดครั้งแรกในรัฐสภา ประสบความล้มเหลว เป็นอันมาก ซึ่งพลตรีหลวงวิจิตรวาทการได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ กุศโลบายสร้างความยิ่งใหญ่” ว่า

                “ เมื่อได้รับเลือกแล้ว ดิสราเอลีก็ได้นั่งข้างหลัง เซอร์โรเบิร์ตพีล ด้วยความใฝ่ฝันอยากที่จะได้พูดบ้าง ซึ่งเขารอมาช้านานแล้ว ในที่สุดวาระของเขาก็มาถึง และได้มีโอกาสพูดตามที่ใฝ่ฝัน ซึ่งเขาอยากพูดมานานแล้ว แต่พอได้พูดเข้าจริง ความฝันอันนั้น ก็กลายเป็นฝันร้าย ความเป็นเชื้อชาติยิว ซึ่งทำความลำบากมาให้เขาแต่เล็กแต่น้อยได้ติดตามมาทำความลำบาก ให้จนกระทั่งถึงเวลาที่ได้นั่งในสภาผู้แทนราษฎร เสียงหัวเราะ เสียงผิวปาก เสียงเย้นหยัน เสียงร้องให้หยุด ได้มีอยู่ตลอดเวลา ดิสราเอลี เขียนเล่าเรื่องของเขาไว้ว่า บางครั้งทำให้เขาเสียขวัญ แต่ก็พยายามสงบใจ ในที่สุดก็สงบต่อไปไม่ไหว พูดต่อไปอีกไม่ได้ ต้องหยุดพูด ก่อนที่จะนั่งลง เขาได้พูดว่า คราวนี้ข้าพเจ้าต้องนั่งลง แต่เวลายังจะมีมาข้างหน้า ที่ท่านจะต้องฟังข้าพเจ้าด้วยความตั้งอกตั้งใจ”

                หลังจากนั้น ดิสราเอลี ก็ได้ทุ่มเทให้กับการฝึกฝนการพูด ฝึกการใช้สำนวนโวหาร ฝึกคิดสำนวนโวหารที่เป็นของตนเอง รวมไปถึงการแสวงหาความรู้อย่างไม่หยุดยั้ง และที่สำคัญเขาเป็นคนที่ฉลาดมากในการใช้คำพูดให้ถูกต้องกับจังหวะและสถานการณ์ เช่น เมื่อประเทศอังกฤษประสบปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ เขาจะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจ รวมไปถึงการแก้ไขปัญหา แล้วเขาก็ออกไปแสดงสุนทรพจน์ แสดงปาฐกถา แสดงความคิดในที่ต่างๆ รวมทั้งมีการพูดให้สัมภาษณ์ทางสื่อมวลชน จนทำให้ประชาชนชาวอังกฤษสมัยนั้น คาดหวังว่าเขาจะช่วยแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจได้ ซึ่งต่อมาเขาก็ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญ เปรียบเสมือนเป็น แม่บ้าน ซึ่งต้องดูแลควบคุมเงินทองของประเทศ

                สำหรับการแสดงสุนทรพจน์และการแสดงปาฐกถา แต่ละครั้ง ดิสราเอลี มักให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเตรียมตัว เขาต้องร่างบทพูดด้วยตนเอง เขาจะพิถีพิถันมาก อีกทั้งซ้อมพูดก่อนที่จะออกไปพูดจริงๆ จึงทำให้ทุกคำพูดที่ออกมาจากปากเขา เป็นคำพูดที่ไพเราะ เต็มไปด้วยวาทศิลป์ ซึ่งคำพูดเหล่านั้น สามารถเป็นตัวอย่างให้แก่นักพูดรุ่นหลังได้

                และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ ดิสราเอลี ประสบความสำเร็จในด้านการใช้คำพูด การใช้วาทศิลป์ก็คือ

ดิสราเอลี เป็นนักเขียนเขาแต่งหนังสือหรือเขียนหนังสือเป็นจำนวนมาก ซึ่งการเขียนหนังสือหรือการเขียนบทความลงตามสื่อต่างๆ ก็ถือว่าเป็นการเตรียมการพูดอยู่ตลอดเวลา เพราะการเขียนหนังสือจะต้องมีข้อมูล ความรู้ ต้องมีความคิด ต้องมีการวิเคราะห์ ต้องมีการเรียบเรียงคำพูดก่อนที่จะเขียน ดังนั้น ดิสราเอลี จึงมีความรู้ที่กว้างขวาง มีความรู้มากพอ ที่จะพูดตอบโต้ พูดโต้แย้ง ในรัฐสภาซึ่งเป็นคุณสมบัติประการหนึ่งของการเป็นนักการเมืองที่ดีและนักพูดที่ดี

                 

วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การพูดเป็นเรื่องที่ฝึกฝนกันได้


การพูดเป็นเรื่องที่ฝึกฝนกันได้

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก


                                หลายๆคน  มักมีความคิดว่า  คนที่พูดเก่ง เขามักมีพรสวรรค์ หรือ พูดเก่ง มาตั้งแต่เกิด การคิดเช่นนี้ จึงทำให้หลายๆคน ไม่อยากที่จะพัฒนาตนเองในด้านการพูด เพราะเชื่อว่า ถึงอย่างไร เราก็พูดไม่เก่ง หรือพูดเก่ง สู้คนอื่นเขาไม่ได้  แต่แท้ที่จริงแล้ว การพูดสามารถฝึกฝนได้ โดยเฉพาะการพูดต่อหน้าสาธารณชน

                                หากเราได้มีโอกาส ไปสอบถามนักพูดระดับประเทศ หรือ นักพูดระดับโลก  เราก็จะได้คำตอบในลักษณะเดียวกันจากปากของนักพูดท่านนั้น  เพราะส่วนใหญ่แล้ว พวกเรามักจะมองตอนที่เขาประสบความสำเร็จหรือมีชื่อเสียงทางด้านการพูดแล้ว แต่ถ้าไปสืบค้น เบื้องหลัง  กว่าที่นักพูดระดับประเทศ นักพูดระดับโลก จะมีชื่อเสียง เขาจะต้องฝึกฝนอย่างหนัก  เขาจะต้องทุ่มเท  เขาจะต้องลงทุน ลงแรง และเสียเวลาในการฝึกฝนและพัฒนาการพูดของเขาอย่างไม่หยุดยั้ง

                                ดังคำพูดของ ศาสตราจารย์ วิลเลี่ยม เจมส์ นักจิตวิทยาที่ยิ่งใหญ่แห่งประเทศสหรัฐ ได้กล่าวไว้ว่า “ เราไม่ต้องไปวิตกกังวลถึงผลของการฝึกฝนของเราเลย ขอให้ฝึกไป   เรียนไป อย่างสม่ำเสมอ อย่าได้หยุดยั้ง แล้วสักวันหนึ่ง เราจะพบว่า    เราไม่ได้เป็นรองใครเลยในวงการหรือยุทธจักรที่เราได้ฝึกฝนไป  บุคคลที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ก็เกิดมาเป็นมนุษย์ธรรมดาสามัญ แต่เขามีความแตกต่างตรงที่บุคคลที่ประสบความสำเร็จ มักจะเอาจริงเอาจังกับเป้าหมายและไม่เคยท้อแท้ท้อถอยนั้นเอง”

                                อับราฮัม  ลินคอล์น อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐ  เขาเข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนเพียงไม่กี่ปี  แต่เขากลับกลายเป็นนักพูดระดับโลก ก็เพราะการฝึกไป เรียนไป

                                เซอร์ วินสตัน เชอร์ชิลล์ อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ  เขาเป็นคนพูดติดอ่าง  ผู้ฟังฟังไม่รู้เรื่อง  แต่หลังจากที่เขา ฝึกไป เรียนไป เขากลายเป็นนักพูดชั้นเยี่ยมของโลก

                                เดมอส เทนิส เขาพูดในรัฐสภาครั้งแรก ถูกฮาป่า  ถูกดูถูกจากคนทั่วประเทศว่า   เป็นคนที่พูดจาไม่มีวาทะศิลป์  การแสดงกิริยาท่าทางน่าเกลียดมาก เขาได้รับการอัปยศอดสู แต่ ก็ด้วยการฝึกไป เรียนไป  เขาต้องใช้เวลาในฝึกพูดตามชายหาดทะเลอยู่ยาวนาน เขาฝึกอ่านสำนวนโวหาร และเขาก็ฝึกคิดสำนวนโวหารของตนเอง สุดท้าย เขาได้รับการให้เกียรติจากรัฐสภา และจากคนทั่วประเทศ

                                ฮิตเล่อร์  อดีต ผู้นำของประเทศเยอรมัน ไม่ได้พูดเก่งมาตั้งแต่เกิด แต่ก็ด้วยการฝึกไป เรียนไป อย่างสม่ำเสมอ สุดท้าย ฮิตเล่อร์ เป็นนักพูดที่สามารถพูดครองใจคนเยอรมันได้ทั้งประเทศในช่วงนั้น

                                ฉะนั้น การพูดจึงสามารถฝึกฝนได้ ยิ่งในยุคปัจจุบัน เรามีสถาบันที่ให้การฝึกอบรม มากมาย อีกทั้งมีองค์กรต่างๆเช่น สมาคม ชมรม กลุ่ม ทางการฝึกพูดให้เรา สามารถเข้าไปฝึกฝนได้ เช่น สมาคมฝึกการพูดแห่งประเทศไทย , สโมสรฝึกการพูดในต่างจังหวัด , ชมรมฝึกการพูดในมหาวิทยาลัย เป็นต้น

                                ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่เชื่อและกล้ายืนยันว่า การพูดเป็นพูดเก่งพูดดี นั้นสามารถฝึกฝนได้ ตอนเด็กๆ กระผมเป็นคนไม่ค่อยพูดมาก พูดไม่เก่ง พูดไม่เป็น แต่พอตอนกระผมได้เรียนในระดับมหาวิทยาลัย จึงได้มีโอกาส เข้าชมรมฝึกการพูด  ภายหลังก็ได้มีโอกาสเข้าไปฝึกฝนการพูดที่สมาคมฝึกการพูดแห่งประเทศไทย และ ตอนทำงานก็ได้มีโอกาสไปฝึกฝนการพูดตามสโมสรฝึกการพูดในต่างจังหวัด

                                แน่นอน หลายคนอาจตั้งคำถามว่า   เราอาจเรียนรู้การพูดจากการอ่านหนังสือและการฟังได้ไม่ใช่หรือ แต่แท้ที่จริงแล้ว วิชาการหลายอย่างเราสามารถอ่านและฟังได้ แต่ก็มีวิชาการอีกหลายอย่างที่ต้องอาศัยการฝึกฝนและการฝึกปฏิบัติ  การพูดจึงเป็นวิชาการในประเภทหลังนี้ คือ ต้องมีการอ่านจากในหนังสือและฟังบุคคลต่างๆพูด  แต่สิ่งที่สำคัญที่จะทำให้เราพูดเก่ง พูดเป็น พูดดี ก็คือการฝึกฝน ฝึกปฏิบัติ นั้นเอง

                                 

พูดอย่างไรให้ขายได้


พูดอย่างไรให้ขายได้

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก


                นักขายที่ประสบความสำเร็จ มักเป็นคนที่พูดเก่ง มีศิลปะการพูดที่สามารถพูดโน้มน้าวใจผู้ซื้อได้ การพูดจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่นักขายที่อยากประสบความสำเร็จจำเป็นที่จะต้องฝึกฝน สำหรับเทคนิคการพูดเพื่อขายมีดังนี้

                1.ต้องชม  นักขายที่พูดเก่ง มีวาทศิลป์ที่ดี เขามักจะชมลูกค้าเป็น เพราะธรรมชาติของคนเรา ชอบให้คนอื่นชม ชอบให้คนอื่นยกย่อง ชอบให้คนอื่นสรรเสริญมากกว่า  คำพูดที่ว่ากล่าว ติทอ ตักเตือน นินทา ดังนั้น นักขายจึงควรที่จะหัดชมลูกค้า  หัดชมครอบครัวของเขา   หัดชมงานที่เขาทำ  หัดชมงานอดิเรกของเขา รวมไปถึงเรื่องที่เขาสนใจหรือสิ่งของที่เขาชื่นชอบ  ไม่ว่าจะเป็น นาฬิกา  แหวน  รถยนต์  เสื้อผ้า  บ้าน   ของลูกค้า   เป็นต้น

                2.ต้องฟัง  นักขายที่ขายเก่ง มักจะเป็นนักฟังที่ดี เขาจะรับฟังปัญหาของลูกค้าก่อน แล้ว ถึงพูดเพื่อที่จะนำเสนอ สินค้า เข้าไปแก้ปัญหาที่ลูกค้ามีอยู่  และควรมีการพูดตอบรับการฟัง  เพื่อทำให้ลูกค้าจะได้เกิดความมั่นใจว่าเรากำลังฟังเขาอยู่ เช่น  ครับ  ครับ  ใช่ครับ  เห็นด้วยครับ  ถูกต้องครับ

                3.ต้องเชื่อ  นักขายที่ขายเก่ง มักจะมีความเชื่อหรือมีความมั่นใจ ในตัวของสินค้า  ตัวของบริษัท ตัวของเจ้าของกิจการ ดังนั้น เมื่อเขาพูดเพื่อขายสินค้าออกไป  เขาก็มักจะพูดด้วยความมั่นใจ  พูดไปด้วยความเชื่อมั่น  เมื่อเขาพูดด้วยความมั่นใจแล้ว บุคลิกและท่าทางของนักขายผู้นั้น ก็จะแสดงออกไปด้วยความมั่นใจตามไปด้วย

                4.ต้องช่วย  นักขายที่เก่ง เมื่อพูดขายสินค้าไปแล้ว ก็มักที่จะช่วยพูดเพื่อให้ลูกค้าที่เกิดความลังเลใจได้มีโอกาสที่จะได้ตัดสินใจซื้อ เพราะในบางครั้ง สินค้าที่นักขายนำเสนอ  มีหลายราคา หลายแบบ หลายขนาด ทำให้ ลูกค้าบางคนไม่รู้ว่าจะตัดสินใจเลือกสินค้า ราคาใด แบบใด ขนาดใด นักขายที่เก่งมักจะสามารถวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าได้  แล้วพูดโน้มน้าวใจเพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกในแบบที่นักขายได้ช่วยตัดสินใจให้

                5.ต้องชี้ความจริง  นักขายที่ขายเก่งและยืนยงอยู่ในวงการการขายได้อย่างยาวนาน มักจะเป็นนักขายที่มีคุณธรรม จริยธรรม เขามักเป็นคนที่พูดความจริง ไม่โกหก หลอกลวงลูกค้า  เพราะถ้าหากพูดโกหก หลอกลวงลูกค้า   เมื่อเขาทราบภายหลัง เขาก็อาจจะไม่เชื่อถือ และอาจจะไม่อยากที่จะซื้อสินค้าซ้ำ

                6.ต้องชอบ นักขายที่จะพูดเพื่อขายสินค้าได้   นักขายผู้นั้น ควรที่จะมีความชอบในตัวของสินค้า  เขาต้องลองทดลองใช้   เมื่อนักขายได้ใช้สินค้าแล้วเกิดความประทับใจในตัวของสินค้า   เขาก็จะพูดความประทับใจของสินค้าได้เป็นอย่างดี 

                ฉะนั้น การพูดเพื่อที่จะขายสินค้า  เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เพราะบุคคลที่สร้างความร่ำรวย  เป็นมหาเศรษฐี  ส่วนใหญ่มักจะเป็นนักขาย เขาจะมีวิธีการพูดเพื่อที่จะขายสินค้า ขายบริการ  และถ้าคุณอยากที่จะขายสินค้าให้ได้มากๆ  การพูดจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะสื่อสาร  เพื่อก่อให้เกิดการซื้อ และจะทำให้เกิดการเพิ่มยอดขาย  เพิ่มรายได้  เพิ่มตำแหน่งทางสังคมให้กับคุณได้

วันอังคารที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การพัฒนาบริการสู่ความเป็นเลิศ


การพัฒนาบริการสู่ความเป็นเลิศ

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก


                ในการทำงานด้านบริการ การที่คนเราจะทำงานด้านบริการให้ได้ดีมีประสิทธิภาพ ตามความคิดเห็นของกระผม กระผมคิดว่า เราจะต้องมีความสุขในการทำงานเสียก่อน เราจะต้องมีความเบิกบาน เราจะต้องมีความสบายใจก่อน เราถึงจะทำงานด้านการบริการอย่างมีคุณค่า  สำหรับคนที่ประสบความสำเร็จในการทำงานด้านบริการ  เขามักจะเป็นคนที่สร้างความสมดุลให้กับชีวิต   เขาจะบริหารเวลาและบริหารชีวิตได้เป็นอย่างดี

                การบริหารเวลาและการสร้างความสมดุลให้กับชีวิต ส่วนมากคนที่ประสบความสำเร็จเขามักจะแบ่งเวลาให้เป็น 3 ส่วน  ใหญ่ๆ เขาจะแบ่งเวลา 8 ชั่วโมง(สำหรับการเรียนและการทำงาน) 8 ชั่วโมง(สำหรับการนอนหลับพักผ่อน) และ อีก 8 ชั่วโมง(สำหรับการเข้าสังคม การทำกิจกรรมต่างๆ)

                ชีวิตการทำงาน หลายคนทำงานเพียง 8 ชั่วโมง แต่คิดว่า งานหนัก หลายคนต้องการนั่งเล่น พูดคุยกัน เพราะรู้สึกว่า เบื่อหน่อยงาน จึงทำให้หน้าที่การทำงานด้านการบริการ เสียหายไปด้วย ซึ่งมีผลกระทบกับภาพลักษณ์ขององค์กรเป็นอย่างยิ่ง

                ภาพลักษณ์ขององค์กร  จะมีความภาพลักษณ์ที่ดีหรือ เกิดความเสียหายเกิดจากอะไร สิ่งหนึ่งก็คือ เกิดจากการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร หากเราเป็นบุคลากรในหน่วยงาน เราจะมีส่วนช่วยให้งานบริการดีขึ้นอย่างไร  เราสามารถช่วยองค์กรของเราได้  เมื่อเราได้รับข้อมูลทั้งในด้านดีและในด้านไม่ดี เราควรเก็บข้อมูลแล้วนำข้อมูลนั้น ไปเสนอกับผู้บังคับบัญชาของเรา

                สำหรับข้อมูลข่าวสารที่ทำให้คนเข้าใจผิด พวกเราในหน่วยงานก็สมควรที่จะอธิบายให้แก่บุคคลที่เข้าใจผิดได้รับฟัง เช่น  อาชีพพยาบาล เข้าทำงานเป็นช่วงเวลา ไม่ได้ทำงานแบบคนทำงานประจำที่เข้าทำงานและหมดเวลาทำงาน 8:00-16:00 น.  หลายคนที่ไม่รู้จึงหาว่า  10 โมงแล้ว  ทำไมนางพยาบาลหลายคนถึงไม่ไปทำงาน หนีงานหรือเปล่า  หากว่าเราเป็นบุคลากรในหน่วยงานหรือในโรงพยาบาลนั้น เมื่อเราได้ยิน  เราก็ควรอธิบายให้เขาฟังด้วยจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน

                สำหรับงานในโลกนี้ แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ 1.งานที่เกี่ยวกับสินค้า  2.งานที่เกี่ยวกับงานบริการ

                งานบริการ ส่วนใหญ่ผู้มาใช้บริการ เรามักเรียกว่า ลูกค้า แต่มีหลายแห่งไม่ค่อยชอบเรียกว่าลูกค้า  เช่น หมอหรือแพทย์ ไม่ค่อยอยากเรียกผู้ป่วยหรือคนไข้ ว่าเป็นลูกค้า เพราะดูเหมือนว่า กำลังขายของ

                งานบริการยุคใหม่ ต้องการความรวดเร็ว ต้องการเทคโนโลยีและต้องการระบบเข้ามาใช้

เช่น ธนาคารกสิกรไทย เป็นธนาคารแรก ที่ได้นำระบบ Reengineering (รีเอ็นจิเนียริ่ง) เพื่อต้องการจะเป็นธนาคารที่มีบริการครบวงจร ซึ่งยังประโยชน์ให้แก่ลูกค้ามากมาย เช่น ทำให้บริการเกิดความรวดเร็ว เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น 

                กล่าวคือการบริการให้เหลือแค่จุดเดียว หากว่า โรงพยาบาล หรือหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะในภายรัฐสามารถทำได้เช่นนี้ ก็จะสร้างงานบริการให้เป็นที่ประทับใจได้

                มีงานวิจัยที่น่าสนใจชิ้นหนึ่ง ผู้ศึกษาเขาเข้าไปศึกษาเกี่ยวกับการบริการของโรงพยาบาลของรัฐ โดยสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง ว่าชาวบ้านหรือผู้ป่วย คนไข้ มีความรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการบริการโรงพยาบาลของรัฐ สรุปได้ว่า ล่าช้า สถานที่แออัด ท่าทีไม่เป็นมิตร บุคลากรเจ้าอารมณ์

                สำหรับงานบริการ มีอีกส่วนงานหนึ่งซึ่งมีความสำคัญเป็นอันมาก ซึ่งเป็นด่านหน้าของงานบริการก็ว่าได้ ก็คือ ส่วนงานโทรศัพท์  การรับโทรศัพท์ การพูดโทรศัพท์ การใช้โทรศัพท์ มีความสำคัญมาก  

                ดังนั้น การพัฒนางานด้านบริการ จะทำให้องค์กรมุ่งหน้าสู่ความเป็นเลิศ  อีกทั้งการพัฒนางานด้านบริการจะก่อให้เกิดผลดีต่างๆกับองค์กรมากมาย เช่น เพิ่มโอกาสในการซื้อซ้ำ , การขยายตลาดโดยมีต้นทุนที่ต่ำโดยลูกค้าบอกต่อแบบปากต่อปาก และก่อให้เกิดกำไร ส่งผลให้มีกระแสเงินสดหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น

               

               

วันจันทร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การตลาดกับธุรกิจบริการ


การตลาดกับธุรกิจบริการ

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก


                หากพูดถึงเรื่องของการตลาดสมัยใหม่กับการตลาดสมัยในอดีต ซึ่งการแข่งขันยังไม่มีความรุนแรงดังเช่นในปัจจุบันมากนั้น การตลาดในสมัยใหม่นี้ จึงมีความเชื่อมโยงกับปัจจัยต่างๆ ซึ่งแต่ละปัจจัยมีผลต่อความสำเร็จทางการตลาด เช่น เรื่องของ SERVICE หรือ การบริการ

                SERVICE หรือ การบริการ มีความสำคัญกับการตลาดไม่ใช่น้อย เพราะหากว่า มีการบริการที่ดี ลูกค้าซื้อซ้ำหรือใช้บริการซ้ำ แล้วลูกค้าก็นำไปแนะนำบอกต่อ ก็จะทำให้เกิดการขยายตัวทางด้านตลาดได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งมีต้นทุนที่ต่ำ หากว่าลูกค้านำไปบอกต่อ

                การบริการ จึงเป็นงานที่มีความซับซ้อน มีรายละเอียดมาก มีความหลากหลาย ซึ่งมีความเป็นนามธรรมสูง และ หากถามว่า แล้วการบริการมีความแตกต่างกับสินค้าประเภทอื่นอย่างไร การบริการมีความแตกต่างกับสินค้าอื่นๆดังนี้

                1.การบริการไม่สามารถจับต้องได้ กล่าวคือ ไม่สามารถชิมได้ ไม่สามารถเห็นได้ ไม่สามารถจับได้ก่อนการซื้อ แต่สินค้าโดยทั่วไป สามารถจับได้ ชิมได้ เห็นได้ ทดลองได้ ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ

                2.การบริการมีความไม่นิ่งหรือไม่มีความแน่นอนตายตัว กล่าวคือ การบริการโดยมากมักใช้คน ซึ่งคนเรามีอารมณ์ มีความรู้สึก มีความโกรธ ไม่เหมือนกับสินค้าอื่นๆ ที่ผลิตกันทีละมากๆ มีความเหมือนกันทั้งด้านหีบห่อ รสชาติ แต่งานบริการ หากว่า คนที่ให้บริการอารมณ์ไม่ดี หรือไม่มีหัวใจด้านการบริการ ก็จะทำให้เกิดการบริการที่ไม่ดีเท่าที่ควร

                3.การบริการไม่สามารถเก็บได้ การยิ้ม การทักทาย การไหว้ เราไม่สามารถเก็บใส่ไว้ในกล่องได้ เหมือนกับสินค้าโดยทั่วไปได้ อีกทั้งการบริการโดยคน เราสามารถบริการได้ทีละคนหรือให้บริการได้เป็นจำนวนน้อยคน แต่สินค้าโดยทั่วไป เราสามารถซื้อได้ทีละมากๆ เช่น สบู่ ยาสีฟัน แปรงฟัน ฯลฯ

                4.การบริการรักษามาตรฐานยากมาก สินค้าโดยทั่วไป เราสามารถวัดคุณภาพ ปริมาณ รูปลักษณ์ ได้ชัดเจนแน่นอน แต่การบริการโดยเฉพาะการบริการด้วยคนนั้น เรารักษามาตรฐานในงานบริการยาก เช่น หากเราไปใช้บริการที่องค์กรใดก็ตาม เราได้รับบริการจากพนักงานคนหนึ่งดีมาก แต่พอเราไปใช้บริการในวันถัดไป เรากลับเจอพนักงานอีกคนหนึ่งที่บริการไม่ดีเท่าที่ควร เราจึงไม่สามารถวัดมาตรฐานการบริการขององค์กรนั้นได้อย่างสมบูรณ์และถูกต้อง ไม่เหมือนกับเราไปซื้อสินค้า สบู่ เราสามารถวัดมาตรฐานได้เพราะ คุณภาพของสบู่ทุกก้อน มีกลิ่นที่เหมือนกัน รูปลักษณ์ที่เหมือนกัน มีสีที่เหมือนกัน

                ฉะนั้น การบริการจะมีลักษณะที่ ไม่สามารถจับต้องได้ ส่วนสินค้าโดยทั่วไป จับต้องได้ , การบริการมีความไม่แน่นอน แต่สินค้าโดยทั่วไปมีความแน่นอน , การบริการไม่สามารถเก็บรักษาได้แต่สินค้าโดยทั่วไปสามารถเก็บรักษาได้ และการบริการจัดทำมาตรฐานได้ยากแต่สินค้าโดยทั่วไปจัดทำมาตรฐานได้ง่ายกว่า

ส่วนประสมการตลาดกับการบริการ

                เครื่องมือทางการตลาดหรือส่วนประสมการตลาด(Marketing Mix) คือ  4 P ได้แก่ ผลิตภัณฑ์(Product) ราคา(Price) การจัดจำหน่าย(Place)และการส่งเสริมการตลาด(Promotion)  เราสามารถประยุกต์ส่วนประสมการตลาดกับการบริการได้ดังนี้

                ธุรกิจธนาคาร หากต้องการ บริการ ลูกค้าให้รวดเร็วก็ด้วยการวางส่วนประสมการตลาด ดังนี้

                1.ผลิตภัณฑ์(Product) ธนาคารต้องจัดพนักงานให้เพียงพอเหมาะสมกับภาระงาน อีกทั้งได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน เช่น มีเครื่อง ATM  มีเครื่องนับฝากเงิน  มีเครื่องตรวจธนบัตรปลอม มีเครื่องคอมพิวเตอร์ออนไลน์ทั่วประเทศ อีกทั้งมีบริการที่หลากหลาย รับชำระค่าไฟฟ้า น้ำประปา ค่าประกันชีวิต จึงเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้า

                2.ราคา(Price) ธนาคารต้องลดค่าธรรมเนียมหรือไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมบางอย่าง เช่น ธนาคารทหารไทย ไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการถอนต่างสาขา ท่านสามารถนำบัญชีออมทรัพย์ของท่านที่เปิดที่สาขาใดก็ได้ โดยไปถอนได้ทุกสาขาโดยไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมในการถอนเงินเช่นในอดีต นับเป็นธนาคารแรกๆที่ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการถอนเงิน

                3.การจัดจำหน่าย(Place) ธนาคารต้องเลือกสถานที่ไปมาสะดวก มีที่จอดรถ อยู่ใกล้ชุมชน มีการตกแต่งสถานที่ทั้งภายในและภายนอกให้สะอาด ทันสมัย สะดุดตา หรือ ธนาคารบางแห่งเลือกที่จะเปิดสาขาในห้างสรรพสินค้า เพราะมีความสะดวก สบายหลายๆอย่าง

                4.การส่งเสริมการตลาด(Promotion)  ธนาคารต้องมี พนักงานคอยให้คำแนะนำ เวลาลูกค้าเดินเข้าไปภายในธนาคาร ว่าลูกค้าต้องการทำธุรกรรมอะไร , ธนาคารต้องมี วัสดุสิ่งพิมพ์ ที่สื่อข้อความ รูปภาพ ที่บ่งบอกถึงความรวดเร็ว ความมีประสิทธิภาพในการทำงาน เช่น หากลูกค้ารอเกิน 5 นาที โปรดติดต่อพนักงานด้วยค่ะ  เป็นต้น

                ฉะนั้น การตลาดกับการบริการ จึงมีความสัมพันธ์กัน มีความเชื่อมโยงกัน หากว่าท่านเป็นนักการตลาดที่ดี ท่านก็ไม่ควรที่จะมองข้ามเรื่องของการบริการซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้การทำการตลาดของท่านให้ได้ดียิ่งขึ้น

               

 

วันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

อยากประสบความสำเร็จต้องลงมือทำ


อยากประสบความสำเร็จต้องลงมือทำ

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก


                คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตหรือบุคคลที่สำคัญๆของโลก มักจะเป็นคนที่มีลักษณะ  คิดดี พูดดี และทำดี  ซึ่ง หลายๆคน มีความคิดที่ดี  มีคำพูดที่ดี แต่เสียอย่างเดียว ก็คือ เขาไม่กล้าที่จะลงมือทำ

                หากว่าท่านเป็นคนหนึ่งที่อยากประสบความสำเร็จ  ท่านต้องกล้าที่จะลงมือทำ

                สตีฟ จอบส์ เขากล้าที่จะลาออกจากมหาวิทยาลัย เพื่อมาก่อตั้งบริษัทแอปเปิ้ลคอมพิวเตอร์ หากว่าเขาเป็นคนที่มีความคิดที่ดี  มีคำพูดที่ดี แต่ไม่ยอมที่จะกล้าเสี่ยงที่จะลาออกแล้วมาตั้งบริษัทของตนเอง บริษัทแอปเปิ้ลคอมพิวเตอร์ ก็คงจะไม่ยิ่งใหญ่เหมือนในปัจจุบัน

                หลุยส์ ราโมล นักเขียนหนังสือแนวนวนิยายซึ่งเขาได้รับรางวัลเบสท์ เซลเลอร์ กว่า 100 เล่ม เมื่อเขาเป็นนักเขียนใหม่ๆยังไม่มีชื่อเสียง เขาเสนอต้นฉบับหนังสือเล่มแรกให้กับสำนักพิมพ์ เขาต้องถูกสำนักพิมพ์ปฏิเสธเกือบ 300 ครั้ง แต่เขายังมีความคิดว่า ต้องมีสำนักพิมพ์สักแห่งที่สนใจหนังสือของเขา เขาจึงลงมือทำต่อไป เขายังคงมุ่งหน้าเสนอ ต้นฉบับกับสำนักพิมพ์ต่อ จนในที่สุดมีสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งสนใจต้นฉบับของเขา สุดท้าย เขาคือ นักเขียนชาวอเมริกันคนแรกที่ได้รับรางวัลจากสภาครองเกรส ในฐานะที่เป็นผู้แนะนำรูปแบบโครงร่างทางประวัติศาสตร์ของสหรัฐ

                โรเจอร์ แบนนิสเตอร์ เขาเป็นคนแรกที่ต้องการสร้างประวัติศาสตร์ เขามีความตั้งใจที่จะทำลายประวัติศาสตร์ของโลก โดยเขาต้องการวิ่งระยะทาง 1 ไมล์ ให้ได้เร็วที่สุด จนกระทั่งปี 1954 เขาวิ่ง 1 ไมล์ใช้เวลาเพียงแค่ 4 นาที ซึ่งเขาต้องลงมือซ้อม ฝึกฝน อดทน เขาจึงประสบความสำเร็จ ต่อมาเมื่อคนทั้งโลกเห็น โรเจอร์ แบนนิสเตอร์ วิ่งได้ ต่อมาจึงมีคนมากกว่า 24 คน วิ่งได้

                อุดมพร พลศักดิ์ หรือน้องอร ของชาวไทย เธอต้องการได้เหรียญทองโอลิมปิก เธอต้องทุ่มเท ฝึกซ้อม อดทน ด้วยความมานะ จนกระทั่งในที่สุดเธอคือผู้พิชิต เหรียญทองโอลิมปิกในปี 2547 ในประเภทกีฬายกน้ำหนักโดยเธอยกได้ 97.5 กก.ในท่าสแนตซ์ และ ท่าคลีนแอนด์เจร์กได้ 125 กก. รวมน้ำหนักที่ได้ 222.5 กก. ในขณะที่ตัวของเธอมีน้ำหนักไม่เกิน 53 กก.  

                คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เขาต้องการค้นหาโลกและพิสูจน์ว่าโลกกลม เขาต้องเสี่ยงภัยอยู่กลางทะเล โดยแล่นเรืออยู่เป็นหลายเดือน หลายปี  จนในที่สุดเขาค้นพบอเมริกาและพิสูจน์จนได้ว่า โลกของเรากลมซึ่งตรงกันข้ามกับความเชื่อของคนสมัยนั้นว่า โลกแบนและมีความเชื่อว่าไม่ควรเดินทางโดยเรือไปไหนไกลๆ เพราะอาจจะทำให้ ตกโลกได้ เมื่อเขาพิสูจน์แล้วว่าโลกกลม จึงทำให้คนสมัยนั้นไม่กังวลอีกต่อไปว่าจะตกโลก

                นีล อัลเดน อาร์มสตรอง เขาต้องการพิชิตดวงจันทร์ ในขณะที่คนสมัยนั้น คิดว่าดวงจันทร์หากไกลแสนไกล ไกลกับโลกมากเหลือเกิน คนเราไม่สามารถไปถึงได้ แต่นีล อัลเดน อาร์มสตรอง เขาไม่ได้คิดเช่นนั้น ในที่สุด คนก็พิชิตดวงจันทร์และเขาก็เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์โลกที่พิชิตดวงจันทร์ได้สำเร็จ

                มหาตมะ คานธี ต้องการปลดปล่อยประเทศอินเดียให้เป็นเอกราชจากสหราชอาณาจักรอังกฤษ เขาลงมือทำ เขาพยายาม เขาอดทน ต่อสู้ โดยใช้หลักการอหิงสาจนในที่สุด โลกก็ได้บันทึกว่าเขาคือนักต่อสู้แบบอหิงสาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งยังได้รับการยกย่องจากประชาชนชาวอินเดียให้เป็นบิดาแห่งอินเดียอีกด้วย

                บุคคลที่กระผมได้กล่าวในข้างต้น ประสบความสำเร็จได้ก็เพราะว่า เขามีเป้าหมาย เขามีความคิด เขามีการวางแผน เขามีความทะเยนทะยาน เขามีความอดทน แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ เขามีการลงมือกระทำอย่างจริงจัง หากว่าท่านเป็นคนหนึ่งที่ต้องการประสบความสำเร็จ จงลงมือทำแล้วท่านจะประสบความสำเร็จ