ปัญหาในการเขียนหนังสือ
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
การเขียนไม่ว่าจะเป็นการเขียนผลงานทางวิชาการ งานเขียนสารคดี งานเขียนบทความ งานเขียนตำรา งานเขียนเรียงความ ฯลฯ มีคนเคยถามกระผมว่า เราควรเริ่มต้นอย่างไรดี การเริ่มต้นงานเขียนที่ดีนั้น ในความคิดของกระผมเราควรเริ่มต้นจากเรื่องที่เรารู้ก่อนเป็นอันดับแรก
เพราะการเริ่มต้นจากสิ่งที่เรารู้ ไม่ว่าโดยผ่านประสบการณ์จริง ผ่านการอ่าน ผ่านการวิจัย ผ่านการศึกษาค้นคว้า จะทำให้เรามีข้อมูลในการเขียน โดยไม่ต้องเสียเวลาไปค้นคว้า เพื่อหาข้อมูลอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งแตกต่างกับการเริ่มต้นในสิ่งที่ตนเองชอบ หรือเริ่มต้นการเขียนจากการเลือกเรื่องที่กำลังได้รับความนิยม จะทำให้เราต้องค้นคว้าหาข้อมูลจำนวนมาก อีกทั้งเราไม่มีประสบการณ์ในเรื่องราวนั้นๆ จะเป็นการยากลำบากมากกว่าการเลือกเรื่องในสิ่งที่เรารู้ สำหรับปัญหาในการเขียนหนังสือ มีดังนี้
1.ขาดแรงบันดาลใจในการเขียน แรงบันดาลใจมีความสำคัญต่อทุกอาชีพโดยเฉพาะอาชีพที่ต้องทำงานอิสระ ขาดการควบคุมตามกฎระเบียบเหมือนทำงานในบริษัท แต่การเป็นนักเขียนเราสามารถกำหนดเวลาเองได้ว่าเราจะทำงานเวลาไหน เมื่อไร ฉะนั้นหากขาดซึ่งแรงบันดาลใจในการเขียน จะทำให้เราไม่มีวินัย เราเขียนไป หยุดไปก็ได้โดยไม่มีใครมาดุด่าต่อว่า ดังนั้นการสร้างแรงบันดาลใจจึงเป็นสิ่งสำคัญมากต่อบุคคลที่ต้องการประสบความสำเร็จในงานเขียน สำหรับวิธีสร้างแรงบันดาลใจเราสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การกำหนดเป้าหมายว่าเราต้องการเป็นนักเขียนระดับใด จงเขียนเป้าหมายบ่อยๆเพื่อเตือนความทรงจำ , การสร้างภาพหรือหารางวัลแห่งความสำเร็จกล่าวคือให้หาภาพที่เราต้องการในอนาคตไม่ว่าจะเป็น บ้าน รถ เงินทอง ที่ตนเองต้องการติดตามบ้าน อีกทั้งควรจินตนาการถึงภาพเหล่านั้น บ่อยๆ , การอ่านหนังสือของนักเขียนดังๆ ที่ตนเองชอบ เป็นต้น
2.ขาดสมาธิ ขาดการอดทนและฝึกฝน งานเขียนหนังสือเป็นงานที่ต้องใช้สมาธิและความอดทน รวมทั้งการฝึกฝน ยิ่งถ้าต้องการเป็นนักเขียนระดับแนวหน้าของประเทศ ยิ่งต้องอาศัยความอดทนและการฝึกฝนอย่างมาก การไม่มีสมาธิและความอดทนจะทำให้ผลงานมีความไม่สมบูรณ์ ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน บางคนเขียนได้ครึ่งๆ กลางๆ แล้วก็หยุด ทิ้งงานเขียนชิ้นนั้นไปเลยก็มี
3.ขาดความมั่นใจในตนเอง หรือมีความกลัวต่างๆเกิดขึ้น เช่น กลัวว่าตนเองไม่เก่ง , กลัวว่าตนเองจบไม่สูง , กลัวว่าจะไม่มีคนอ่าน , กลัวเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เป็นต้น ฉะนั้น หากต้องการเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จจงทำลายความกลัวต่างๆนั้นเสีย อีกทั้งต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ว่า เราทำได้ และไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิดโดยไม่มีการฝึกฝน ผิดพลาดใดๆ จงกล้าที่จะล้มเหลว อย่าได้กลัวหรือท้อแท้ ท้อถอย จงอ่านประวัตินักเขียนดังๆ แล้วจะเห็นว่านักเขียนที่ดังๆ มักเคยผ่านอุปสรรคต่างๆมาอย่างมากมาย
4. ขาดการวางแผน การวางแผนมีความสำคัญต่อบุคคลที่ต้องการประสบความสำเร็จ คนเรามีเวลาเท่ากันแต่บุคคลที่ประสบความสำเร็จกับบุคคลธรรมดา มักมีความแตกต่างกันในเรื่องของปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ปัจจัยหนึ่งก็คือ บุคคลที่ประสบความสำเร็จมักมีการวางแผน ซึ่งการวางแผนนั้น ท่านจะต้องกำหนดเวลาทำงานในการเขียนว่าท่านจะทำงานกี่โมงถึงกี่โมง โดยต้องมีวินัยในการปฏิบัติตามแผนนั้น อีกทั้งหากท่านมีงานประจำที่ต้องทำ แต่งานเขียนเป็นงานอดิเรก ท่านจงใช้เครื่องมือต่างๆ ช่วยให้เกิดประโยชน์เช่น ควรพก ปากกา สมุด ดินสอ เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือ เครื่องบันทึกต่างๆ เอาไว้เขียนหรือบันทึกในสิ่งที่ท่านต้องการเขียนแล้วนำไปเรียบเรียงในภายหลังก็จะเกิดประโยชน์เป็นอย่างมาก
สำหรับปัญหาในการเขียนหนังสือ หากเราวิเคราะห์กันจริงๆ แล้ว ปัญหาที่แท้จริงมักเกิดกับตัวเราเองทั้งสิ้น ฉะนั้น หากท่านต้องการเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ ท่านจึงควรแก้ไข พัฒนา ปรับปรุง ตนเอง อีกทั้งท่านต้องเชื่อว่าท่านสามารถเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จได้ สำหรับปัจจัยอื่นก็เป็นแค่ส่วนประกอบไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างบรรยากาศในการเขียน , การมีเครื่องมือที่ทันสมัยช่วยในงานเขียน , การมีครูหรือวิทยากรดีๆมาแนะนำงานเขียน เป็นต้น แต่สิ่งที่สำคัญทั้งหมดนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับใครหรือสิ่งใด แต่ขึ้นอยู่กับตัวท่านเองเป็นสำคัญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น