วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ความสำเร็จในงานเขียน

ความสำเร็จในงานเขียน
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                งานเขียนเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ศาสตร์คือสามารถศึกษาได้ เรียนรู้ได้ ศิลป์คือเป็นเทคนิควิธีการรูปแบบเฉพาะของแต่ละบุคคล ดังนั้นงานเขียนจึงเป็นศาสตร์และศิลป์ ที่สามารถฝึกฝนพัฒนาได้ กล่าวคือ หากอยากเขียนเก่ง ท่านจะต้องเขียนบ่อยๆ เขียนมากๆ เมื่อเขียนบ่อยๆ เขียนมากๆ งานเขียนของท่านก็จะเกิดการพัฒนาให้ดีขึ้น
                งานเขียนจึงไม่แตกต่างกับการเล่นดนตรี การว่ายน้ำ การปั่นรถจักรยาน หากท่านเล่นดนตรีบ่อยๆ หากท่านว่ายน้ำบ่อยๆ หากท่านปั่นรถจักรยานบ่อยๆ  ท่านก็จะเกิดการเรียนรู้และพัฒนาได้เช่นกัน สำหรับข้อแนะนำที่จะทำให้งานเขียนของท่านเกิดการพัฒนา หากท่านสามารถทำเป็นนิสัยหรือทำได้ทุกๆวันจะเป็นการดี มีดังนี้
                1.จงเขียนให้มากๆ หากท่านต้องการเป็นนักพูดท่านต้องขึ้นไปพูด หากท่านต้องการเป็นนักขายท่านต้องลงไปขาย หากท่านต้องการเป็นนักเขียนไม่มีวิธีอื่นใด ท่านจะต้องเขียนให้มากๆ เขียนได้ทุกวันยิ่งเป็นการดี หากไม่รู้จะเขียนอะไรก็ขอให้เขียนบันทึกประจำวันว่าท่านทำอะไรไปบ้างในแต่ละวัน เล่าเหตุการณ์ต่างๆในแต่ละวัน หรือในยุคปัจจุบันเป็นยุคข้อมูลข่าวสาร โลกของอินเตอร์เน็ตท่านสามารถเขียนเหตุการณ์ต่างๆ  มุมมองของท่านต่อข้อมูลข่าวสารต่างๆ เช่นเรื่องของการเมือง , เรื่องของเศรษฐกิจ ,เรื่องของสังคม  ฯลฯ ในปัจจุบัน เพื่อเผยแพร่ให้เพื่อนๆในอินเตอร์เน็ต โดยท่านอาจใช้เวลาเขียนเพียงแค่สักวันละ 20-30 นาที โดยทำต่อเนื่องให้ได้ทุกๆวัน ก็จะทำให้งานเขียนของท่านพัฒนาได้ โดยท่านต้องทำอย่างต่อเนื่องทุกวันเป็นเวลา 21 วัน (ทำต่อเนื่องทุกๆวัน จนกลายเป็นนิสัยต้องทำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 21 วัน วันที่ 22 จะกลายเป็นนิสัย จากงานวิจัยของต่างประเทศชิ้นหนึ่ง) ท่านก็จะเกิดนิสัยในการรักการเขียนขึ้น
                2.จงอ่านให้มากๆ หากท่านต้องการเป็นนักเขียน แต่ท่านมีข้อมูลไม่มาก การอ่านจะเป็นตัวช่วยเพิ่มข้อมูลในคลังสมองของท่าน จงอ่านหนังสือให้มากเพื่อเป็นการสะสมความรู้  ท่านควรอ่านหนังสือประเภทต่างๆให้มากๆ เพื่อเป็นการช่วยให้ท่านเกิดแง่มุมความคิดใหม่ๆ ขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่องานเขียนของท่าน  หากท่านไม่ได้เป็นนักอ่าน ท่านก็ไม่ควรริเป็นนักเขียน เพราะการอ่านจะทำให้ท่านรู้เทคนิคต่างๆ ในการเขียนมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะการอ่านงานของนักเขียนดังๆ อีกทั้งนักเขียนดังๆ ในอดีตก็มีนิสัยรักการอ่านมากๆ อ่านหนังสือทุกประเภทจนกระทั่งอ่านเนื้อหาในถุงใส่กล้วยทอดก็เคยมี
                3.จงฟังมากๆ  หากท่านเป็นคนที่อ่านหนังสือน้อยหรือมีเวลาอ่านหนังสือน้อย การฟังก็เป็นทักษะอีกอย่างหนึ่งที่สามารถทำให้ท่านได้ ข้อมูล องค์ความรู้ เพื่อใช้ในงานเขียน หากท่านทำงานประจำ โดยมีงานเขียนเป็นงานอดิเรก ทำให้มีเวลาน้อยลงในการอ่าน การเขียน การฟังจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถทำให้ท่านประหยัดเวลาได้มาก ท่านสามารถฟังเทป MP3  ได้  ในระหว่างการขับรถยนต์  ในระหว่างการนั่งในรถโดยสารประจำทาง ในระหว่างนั่งโดยสารบนเครื่องบิน  หรือฟังระหว่างการวิ่งหรือเดินไปยังสถานที่ต่างๆ การฟังก็เป็นอีกทางหนึ่งที่สามารถทำให้ท่านนำข้อมูล องค์ความรู้ เข้าคลังสมองได้อีกวิธีหนึ่ง
                4.จงรู้จักผู้อ่านมากๆ บางครั้งนักเขียนเขียนได้ดีมากๆ แต่มีคนซื้อหนังสือหรืออ่านหนังสือน้อยมาก  ก็เพราะนักเขียนผู้นั้นขาดความรู้ทางด้านการตลาด ซึ่งหากนักเขียนต้องการให้มีผู้ซื้อหนังสืออ่านมากๆ ผู้เขียนควรพัฒนาหนังสือของตนให้เป็นที่ต้องการของลูกค้า  โดยการหมั่นสำรวจความต้องการทางด้านการตลาดในธุรกิจหนังสือ มีการวิเคราะห์ว่ากลุ่มผู้อ่านของเราคือใคร มีการโฆษณา มีประชาสัมพันธ์หนังสือของตนเอง  อีกทั้งหนังสือที่เราผลิตจะต้องคำนึงถึงสิ่งต่างๆดังนี้ การออกแบบปก , ราคาหนังสือ , การสร้างความแตกต่างของหนังสือ เป็นต้น
                ดังนั้น หากต้องการประสบความสำเร็จในงานเขียน ท่านจงเขียนมากๆ  ท่านจงอ่านมากๆ ท่านจงฟังมากๆ และท่านจงทำความรู้จักกับผู้อ่านให้มากๆ ท่านก็จะเป็นอีกผู้หนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการเป็นนักเขียน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น