วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เขียนหนังสือเก่ง...ชีวิตดีขึ้น


เขียนหนังสือเก่ง...ชีวิตดีขึ้น
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์(ดร.โทนี่)
                บุคคลที่เขียนหนังสือเก่งมักมีความได้เปรียบคนที่เขียนหนังสือไม่เก่งเป็นอย่างมาก เนื่องจากการเขียนเป็นการสื่อสารประเภทหนึ่ง หากท่านต้องการเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จ ท่านจึงควรฝึกฝนการเขียน พัฒนาการเขียนของท่าน เพราะการเขียนหนังสือเก่งจะทำให้ชีวิตของท่านดีขึ้นอย่างแน่นอน เช่น
-                    คนที่ตกงานคนไหนที่เขียนเก่งสามารถเขียนจดหมายสมัครงานแล้วได้งานทำ ตรงกันข้ามกับคนที่เขียนไม่เก่งเมื่อเขียนจดหมายสมัครงานแล้ว มักจะไม่มีใครเรียกสัมภาษณ์ เนื่องจากการเขียนจดหมายสมัครงานเราต้องมีเทคนิคบางประการ กล่าวคือ เขียนแล้วทำอย่างไรให้คนอ่านถูกใจและอยากเรียกเราสัมภาษณ์เพื่อทำงาน
-                    พนักงาน คนที่เขียนเก่งสามารถเขียนรายงานแล้วได้เลื่อนตำแหน่ง คนที่เขียนรายงานเก่ง ผู้บริหารมักชื่นชมในผลงาน การเขียนรายงานส่งให้ผู้บริหารอ่าน ผู้บริหารจะทราบว่าบุคคลที่เขียนมีประสบการณ์ มีความคิดที่ดีมากน้อยขนาดไหนก็ด้วยการพิจารณาจากรายงานที่ส่งไปให้อ่าน
-                    ครู อาจารย์ นักวิชาการ คนที่เขียนเก่งสามารถเขียนผลงานทางวิชาการ ทำให้ได้รับการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือน มีความก้าวหน้าทางอาชีพต่อไปเป็นลำดับขั้น
-                    นักการเมืองที่เขียนเก่ง มักเขียนผลงานของตนเองตามสื่อต่างๆ ผ่านงานเขียนบทความ งานเขียนรายงานข่าว มักทำให้ตนมีชื่อเสียง ประชาชนรักใคร่ศรัทธา  มากกว่านักการเมืองที่เขียนไม่เก่ง
-                    นักธุรกิจ นักบริหาร ที่เขียนเก่ง มักเขียนแผนงานของตนด้วยความเป็นมืออาชีพจนได้รับการยอมรับจากเจ้าของกิจการ หรือ เขียนแผนธุรกิจเก่ง มักได้รับการพิจารณาให้เงินกู้จากธนาคารก่อนคนที่เขียนไม่เก่ง
-                    นักการตลาดที่เขียนเก่ง มักได้รับเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น นักการตลาดบางคนทำงานเก่ง แต่พอให้เขียนแผนการตลาด ให้เขียนคำโฆษณา เขียนถ้อยคำประชาสัมพันธ์ ให้เขียนข่าวลงหนังสือพิมพ์ กับเขียนไม่ได้เรื่อง ทำให้เสียอนาคตไปหลายคนแล้ว
การเขียนหนังสือเก่งยังมีประโยชน์อีกหลายอย่าง เช่น การเขียนหนังสือเก่ง มักทำให้พูดเก่งด้วย เพราะ
การจะพูดเก่งต้องมีการเตรียมการพูดโดยการเขียนสคริปต์ก่อน แล้วจึงนำเอาสคริปต์มาท่อง มาเตรียมการพูด อีกทั้งคนเขียนเก่งยังสามารถหารายได้ได้เพิ่มเติมอีกด้วย เช่น เขียนหนังสือประเภทต่างๆขาย  การรับจ้างเขียนสคริปต์รายการต่างๆทางวิทยุ ทางโทรทัศน์ การรับจ้างเขียนแผนต่างๆ  การรับจ้างเขียนผลงานวิชาการ การรับจ้างเขียนบทละคร บทภาพยนตร์ การรับจ้างเขียนข้อความโฆษณา ข้อความประชาสัมพันธ์  เป็นต้น
                จึงขอสรุปอีกครั้งหนึ่งว่า หากปัจจุบันท่านเขียนหนังสือไม่เก่ง แต่ท่านมุ่งมั่นฝึกฝน อดทน พยายาม เรียนรู้ ศึกษาการเขียน ชีวิตของท่านจะดีขึ้น รุ่งเรือง รุ่งโรจน์ อย่างแน่นอน เขียนหนังสือเก่ง...ชีวิตดีขึ้นครับ

วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ก้าวสู่อาชีพนักเขียน


ก้าวไปสู่อาชีพนักเขียน
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์(ดร.โทนี่)
                อาชีพนักเขียนเป็นอาชีพอิสระ เป็นอาชีพที่มีรายได้ไม่จำกัดจำนวน เช่น นักเขียนนิยายท่านหนึ่งมีผลงานรวมเล่ม 50 ปก เฉลี่ยราคาปก 300 บาท จำนวนพิมพ์แต่ละปก 3,000 เล่ม ค่าเรื่องของนักเขียน 10 เปอร์เซ็นต์ ของราคาปก ดังนั้นนักเขียนท่านนี้จะมีรายได้ เท่ากับ 50 คูณ 300 คูณ 3,000 คูณ 10 เปอร์เซ็นต์ รวมแล้วเท่ากับ 4,500,000 บาท หรือ นักเขียนอีกท่านหนึ่งซึ่งกระผมไม่ขอเอ๋ยนาม เขียนเรื่องลงในนิตยสาร วารสาร หลายแห่ง มีการใช้นามปากกาถึง 20 นามปากกา นักเขียนท่านนี้เขียนงานได้หลายประเภท เช่น เรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เรื่องสั้น  โดยเฉพาะนิยาย นักเขียนท่านนี้ต้องเขียนทุกๆวันจำนวนถึง 3 ตอนหรือ 3 เรื่อง บางวันต้องเขียนถึง 4 ตอนหรือ 4 เรื่อง ทำให้ได้ผลงานประมาณ 100 ตอนหรือ 100 เรื่องต่อเดือน โดยได้รับค่าเรื่องหรือค่าบทความในความยาวประมาณ 1 หน้า A4 ประมาณ 300-1.500 บาท (แล้วแต่ความยากง่ายและการกำหนดค่าเรื่องหรือค่าบทความของนิตยสาร วารสารนั้น) นักเขียนท่านนี้ได้รับค่าตอบแทนประมาณ 40,000-60,000บาทต่อเดือน ท่านอาจตกใจว่าเป็นความจริงหรือ เป็นความจริงครับ
 ท่านก็เป็นคนหนึ่งที่สามารถทำรายได้จากการเขียนได้ดังบุคคลตัวอย่างข้างต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถ ความขยันและการพัฒนางานเขียนของตนเอง ยิ่งในปัจจุบันการเปิดโอกาสในการสร้างรายได้จากงานเขียนยิ่งมีมาก เพราะในปัจจุบันมีนิตยสาร วารสาร หนังสือพิมพ์ จำนวนมากมาย ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน รายปักษ์ มีทุกประเภททุกแนว
จากตัวอย่างและปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ทำให้เห็นได้ว่าเราสามารถประกอบอาชีพนักเขียนได้ แต่ท่านผู้อ่านหลายๆท่าน คงมีความคิดที่สวนทางหรือได้รับข้อมูลจากอดีตว่า การเป็นนักเขียนมักไส้แห้งหรือไม่มีเงิน คำกล่าวเหล่านี้เป็นความจริงบางส่วน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด หากว่างานเขียนของท่านขาดการพัฒนา งานเขียนของท่านไม่เป็นที่ต้องการของตลาด งานเขียนของท่านไม่สามารถเอาชนะใจบรรณาธิการได้ งานเขียนของท่านไม่สามารถรวมเล่มขายได้  คำว่า “ ไส้แห้ง ” อาจเป็นความจริงสำหรับท่าน แต่ถ้าหากว่า งานเขียนของท่านมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง งานเขียนของท่านมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง งานเขียนของท่านเป็นที่ต้องการของตลาด งานเขียนของท่านสามารถเอาชนะใจบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ วารสาร นิตยสาร ได้  และงานเขียนของท่านมีสำนักพิมพ์ติดต่อเพื่อขอรวมเล่มขายได้  ท่านก็เป็นคนหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้หรือความร่ำรวยหรือสร้างชื่อเสียงได้ดังนักเขียนที่ดังๆ เช่น ทมยันตี โบตั๋น สมคิด ลวางกูร ฯลฯ
สำหรับนักเขียนต่างประเทศที่สร้างรายได้มากมายมหาศาล ดังเช่น เจ.เค.โรว์ลิ่ง นักเขียนชุดนวนิยายแฟนตาซี      “ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ” นักเขียนที่เป็นระดับมหาเศรษฐีเลยทีเดียว นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2551 หนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้รับการพิมพ์ไปทั่วโลก มีการแปลเป็นภาษาต่างๆมากกว่า 67 ภาษา

เจ.อาร์.อาร์.โทลคีน ผู้แต่งหนังสือ เดอะลอร์คออฟเดอะริงส์ ได้สร้างรายได้จากการขายหนังสือเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการแปลหนังสือเป็นภาษาต่างๆไม่น้อยกว่า 38 ภาษา อีกทั้งยังได้เงินค่าลิขสิทธิ์จากการนำหนังสือเรื่อง “เดอะลอร์คออฟเดอะริงส์” ไปทำเป็นภาพยนตร์อีกด้วย
                บุคคลดังกล่าวข้างต้นเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จในการเป็นนักเขียนอาชีพ อีกทั้งยังเป็นผู้มีรายได้มากมายมหาศาลจากงานเขียน ขอย้ำอีกครั้ง ท่านก็สามารถเป็นเช่นนั้น หากท่านมีความทะเยอทะยาน มีความมานะอดทน ต่อสู้มีความขยันขันแข็ง มีเป้าหมายในชีวิตว่าต้องการเป็นนักเขียนไม่ใช่เขียนแค่สิบเรื่องยี่สิบเรื่องหรือเขียนบทความแค่ 100 เรื่องแล้วไม่ประสบความสำเร็จก็ล้มเลิกไป อย่างนี้คงใช้ไม่ได้ หากต้องการความสำเร็จเราจะต้องไม่ยอมแพ้  ถึงแม้จะใช้เวลานานสักเท่าไร จะเขียนมากมายขนาดไหน เราจะต้องสู้จนกว่าจะเป็นนักเขียนมืออาชีพ
                ยอร์ช เบอร์นาร์ด ชอว์ นักประพันธ์ชื่อดังของโลกหรือนักอ่านทั่วโลกรู้จัก กว่าเขาจะประสบความสำเร็จ เขาต้องลำบากยากเย็นในชีวิตมาก เขาวางแผนว่าทุกวันเขาจะต้องเขียนหนังสือให้ได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 5 หน้ากระดาษ เขาต้องเขียนหนังสืออย่างต่ำวันละ 5 หน้ากระดาษ เขาได้ส่งผลงานเขียนของเขาไปยังสำนักพิมพ์ต่างๆ แต่ก็จนปฏิเสธ ท่ามกลางความผิดหวัง ท่ามกลางความล้มเหลว แต่เขาไม่ยอมแพ้เขาคงตั้งหน้าตั้งตาเขียนหนังสือทุกวันไม่ต่ำกว่า 5 หน้ากระดาษ ตลอดระยะเวลานานถึง 9 ปี เขามีรายได้น้อยมากๆเขาได้รายรับได้เพียงวันละเซนต์สองเซนต์ แต่เขาก็อดทนเขียนต่อไป จนในที่สุดภายหลัง 9 ปี แห่งความลำบาก เขาก็มีชื่อเสียงขึ้นมาเรื่อยๆ ผลงานของเขาก็เป็นที่ต้องการขึ้นเรื่อยๆ นี่ถ้าเขาหยุดเขียนตั้งแต่ปีที่ 5 ผู้อ่านทั่วโลกคงไม่ได้อ่านผลงานการเขียนของนักเขียนชื่อดังระดับโลกผู้นี้
                ดังนั้น หากท่านต้องการเป็นนักเขียนมืออาชีพหรือมีอาชีพนักเขียน ท่านต้องมีเป้าหมาย แล้วรีบลงมือทำทันที ลงมือเขียนเรื่องราวต่างๆ เขียนทุกวัน เขียนจนเป็นนิสัย  แล้วท่านจะเป็นคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการเป็นนักเขียนอาชีพหรือมีอาชีพนักเขียนในที่สุด

วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2554

การบริหารข้อมูลสำหรับงานเขียน


การบริหารข้อมูลสำหรับงานเขียน
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์(ดร.โทนี่)
                โลกยุคปัจจุบันเป็นโลกยุคของข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลข่าวสารมีมากมาย แต่ละวันหากเราลองสังเกตข้อมูลข่าวสารจะ หลั่งไหลผ่านหูผ่านตาเราเป็นจำนวนมาก หากไม่มีการจัดเก็บข้อมูลเหล่านั้นก็ไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าเรามีการจัดเก็บสะสมข้อมูลอย่างดี เราก็สามารถนำข้อมูลที่ได้จากสื่อต่างๆ ไปใช้ประกอบงานเขียนได้ เช่น ข้อมูลจากหนังสือ ข้อมูลจากตำรา ข้อมูลจากวารสาร ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ฯลฯ  
                แต่หากมีข้อมูลจำนวนมากแต่ขาดการบริหารข้อมูล จะทำให้ข้อมูลที่หามาได้นำมาใช้ประกอบงานเขียน ต้องเสียเวลาในการค้นหานาน การบริหารข้อมูลจึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญสำหรับคนที่ต้องการทำงานด้านงานเขียน เราสามารถบริหารข้อมูลได้ด้วยวิธีง่ายๆ เช่น
-                    เมื่อเราเจอข้อความหรือบทความที่น่าสนใจ และคิดว่าน่าจะนำมาใช้ประกอบงานเขียนได้ ในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร จงตัดเก็บไว้ใส่แฟ้มหรือหากตัดไม่ได้ก็ควรจดข้อความนั้นๆหรือหากต้องการให้เป็นระเบียบยิ่งขึ้นก็ควรพิมพ์แล้วนำไปใส่ในแฟ้ม
-                    มีการจัดเก็บข้อมูลใส่ในแฟ้มโดยแบ่งเป็นเรื่องต่างๆ ตามที่ตนเองสนใจ เพื่อความสะดวกในการค้นหา และควรเขียนชื่อเรื่องติดไว้หน้าแฟ้มให้เรียบร้อย  เช่น  เรื่องการเมือง , เรื่องเศรษฐกิจ, เรื่องสังคม , เรื่องการคิด,เรื่องการตลาด,เรื่องธรรมะ ฯลฯ
-                    มีการจัดเก็บข้อมูลในรูปของ ซีดี หรือ ในเครื่องคอมพิวเตอร์ เนื่องจากข้อมูลบางส่วนสามารถค้นหาทางอินเตอร์เน็ตได้ แต่เราสามารถสะสมข้อมูลได้โดยการจัดเป็นหมวดหมู่
-                    มีการใช้สมุดพกติดตัวไว้ใช้บันทึกข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้อย่างปัจจุบันทันด่วน แล้วนำที่จดลงในสมุดพกมาพิมพ์ใส่ในแฟ้มเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลต่อไป
-                    มีการจัดซื้อข้อมูลข่าวสารที่ต้องการศึกษามาเก็บไว้ อาจเป็นรูปของหนังสือ วารสาร หรือแม้ ซีดี เพื่อนำมาใช้ในยามที่ต้องการ

เราจะเห็นได้ว่าการบริหารข้อมูลสำหรับงานเขียน เป็นสิ่งที่สำคัญทำให้ผู้เขียนสามารถค้นหาข้อมูลต่างๆได้
ง่ายขึ้น อีกทั้งเป็นการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย

วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554

การพัฒนาทักษะการเขียน


การพัฒนาทักษะการเขียน
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์(ดร.โทนี่)
                การพัฒนาทักษะการเขียน มีความสำคัญมากต่ออาชีพนักเขียนหรือผู้ซึ่งต้องการพัฒนาตนเองในงานเขียน การพัฒนาทักษะการเขียนก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับการพัฒนาทักษะต่างๆ เช่น การพัฒนาทักษะการพูด  การพัฒนาทักษะการฟัง การพัฒนาทักษะการอ่าน กล่าวคือ มี 3 ขั้นตอน มีขั้นตอนก่อนการเขียน  มีขั้นตอนลงมือเขียนและขั้นตอนหลังการเขียน
               
ซึ่งทั้ง 3 ขั้นตอนมีรายละเอียดดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ขั้นตอนก่อนการเขียน 
1.1.ผู้เขียนควรทำความเข้าใจรูปแบบต่างๆ ในงานเขียน เนื่องจากงานเขียนแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน ทั้งรูปแบบการนำเสนอ ลักษณะ ความหมาย  เช่น การเขียนบทความ การเขียนสารคดี การเขียนรายงาน การเขียนเรียงความ การเขียนจดหมาย การเขียนเรื่องสั้น การเขียนนวนิยาย ฯลฯ
1.2.การเลือกเรื่องที่จะเขียน ควรคำนึงถึงองค์ความรู้ ประสบการณ์ ของผู้เขียน , ความสนใจของผู้อ่าน , ความแปลกใหม่ที่จะนำเสนอ , ความสามารถในการหาข้อมูลมาประกอบ
1.3.การรวบรวมข้อมูลมาประกอบ การเขียนทุกประเภทข้อมูลประกอบการเขียนเป็นสิ่งที่สำคัญและมีความจำเป็น ข้อมูลอาจจะมาจากแหล่งต่างๆ เช่น หนังสือ , การสัมภาษณ์บุคคล , การไปหาข้อมูลจากแหล่งที่เกิดข้อมูลโดยตรง และการค้นหาจากอินเตอร์เน็ต(Internet) 
1.4.การวางโครงเรื่อง ในการเขียนเราควรมีการวางโครงเรื่องว่าในหนังสือของเรา 1 เล่ม หรือ ในบทความของเรา 1 บท เราต้องการวางโครงเรื่องอย่างไร

ตัวอย่างการวางโครงเรื่อง
                                                                                ปัญหายาเสพติด
1.ความหมายของคำว่า ยาเสพติด
2.สภาพปัญหาของยาเสพติดที่ส่งผลกระทบต่อสังคมไทย
3.ลักษณะของปัญหา
4.สาเหตุของปัญหา วิธีการแก้ไขปัญหาและป้องกัน
5.ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหายาเสพติด

ขั้นตอนที่ 2  ขั้นลงมือเขียน
                เมื่อได้เตรียมการในขั้นตอนที่ 1 เสร็จแล้วให้ลงมือเขียนรายละเอียดตามโครงเรื่องที่วางเอาไว้ โดยมีการขยายความ การอธิบาย การยกตัวอย่าง  ให้มีเนื้อหาที่สมบูรณ์ โดยต้องคำนึงถึง ลักษณะ รูปแบบ การนำเสนอของงานแต่ละประเภท เช่น การเขียนบทความต้องมีส่วนประกอบคือ การตั้งชื่อเรื่อง คำนำ เนื้อเรื่องและสรุป อีกทั้งต้องแสดงความคิดเห็น สอดแทรกข้อเสนอ และการวิพากษ์วิจารณ์ลงไปด้วย เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 3 ขั้นตอนหลังการเขียน
 สำหรับผู้ฝึกหัดเขียนใหม่ๆ เมื่อเขียนเสร็จแล้ว ควรอ่านทบทวนหลายๆ
รอบ อาจจะอ่านเสร็จแล้ว ทิ้งไว้สัก 1 อาทิตย์แล้วนำมาอ่านใหม่ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมงานเขียนให้สมบูรณ์ขึ้น
แล้วพิจารณาว่างานเขียนของตนเองมีรูปแบบ ลักษณะ การนำเสนอตรงกับประเภทของงานเขียนหรือไม่ ตรวจดูคำผิด การใช้คำ การใช้ประโยค ภาษา งานเขียนบางประเภทต้องให้ผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบหรืออ่านก่อน เมื่อแก้ไขสมบูรณ์แล้วจึงจัดส่งเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนต่อไป
                การพัฒนาทักษะการเขียนจึงเป็นสิ่งที่ผู้ต้องการพัฒนางานเขียนของตนควรได้ทำความเข้าใจ ทำการศึกษา เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการเขียน