วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

นักเขียนบทความ

นักเขียนบทความ
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
                ก่อนที่จะเป็นนักเขียนบทความที่ดี ท่านต้องเรียนรู้และทำความรู้จักกับการเขียนบทความประเภทต่างๆก่อน จึงจะทำให้ท่านเป็นนักเขียนบทความที่ดี ซึ่งการแยกประเภทของบทความต่างๆมีดังนี้ บทความเชิงวิชาการ บทความสัมภาษณ์ บทความแนะนำ บทความปกิณกะ บทความวิเคราะห์ บทความวิจารณ์ บทความแสดงความคิดเห็น เป็นต้น
                เมื่อท่านทำความเข้าใจและเรียนรู้ ประเภทของบทความแล้ว ท่านควรถามตนเองว่าท่านชอบเขียนบทความประเภทไหน หากไม่รู้ว่าตนเองชอบเขียนบทความประเภทไหน วิธีการง่ายๆ ท่านลองสังเกตตนเองว่า ตนเองชอบอ่านบทความประเภทไหนหรืออ่านบทความประเภทไหนแล้วมีความสุข
                คนที่จะเขียนบทความได้ดีนั้น ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร กล่าวคือคนที่จะเขียนบทความได้ดีนั้น ควรมีคุณสมบัติ 3 นัก คือ
                1.นักอ่าน ท่านต้องอ่านหนังสือทุกประเภท อ่านเพื่อสะสมข้อมูล การอ่านมากๆ โดยเฉพาะการอ่านบทความมากๆ จะทำให้เราได้เรียนรู้วิธีการเขียนบทความของนักเขียนบทความคนนั้นๆ ท่านอาจเลือก ต้นแบบคือนักเขียนบทความที่ท่านชอบหรือประทับใจ แล้วขยันติดตามอ่านผลงานของเขา แล้วจึงศึกษารูปแบบ การใช้คำ การใช้สำนวนต่างๆ วิธีการนำเสนอของเขาเป็นอย่างไรแล้วนำมาปรับเพื่อเป็นแนวการเขียนของตัวท่าน เอง
                2.นักนำเสนอหรือนักเล่าเรื่อง ผู้จะเขียนบทความได้ดี ต้องเป็นนักเล่าเรื่องที่ดี กล่าวคือ การเขียนบทความที่ดีต้องมีการนำเสนอที่เป็นระบบ มีความกระชับในเนื้อหา เนื่องจากการเขียนบทความที่ดีมีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ ไม่เหมือนกับการเขียนนวนิยายซึ่งท่านสามารถเขียนได้จำนวนมากหน้า แต่การเขียนบทความ โดยเฉพาะการเขียนบทความที่ลงตามหนังสือพิมพ์นั้น มีข้อจำกัดในด้านพื้นที่ของหน้าหนังสือพิมพ์ อีกทั้งยังต้องนำเสนอในเรื่องที่ทันสมัยหรือเป็นเรื่องที่น่าสนใจของคนส่วน มาก จึงจะทำให้บทความของท่าน เป็นที่รู้จักของผู้อ่าน
                3.นักพัฒนาตนเอง นักเขียนบทความที่ดีต้องมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งต้องมีแรงขับภายในตนเองสูง กล่าวคือ เมื่อท่านได้อ่านมาก ฟังมาก ท่านก็อยากที่จะเขียนเพื่ออยากระบายข้อมูลภายในตัวท่านเองออกมา นักเขียนบทความที่เก่งมักจะเรียนรู้ ปรับปรุงการเขียนบทความของตนเองอยู่เสมอ ฝึกคิดให้รอบด้าน ฝึกการคิดให้เกิดความแหลมคม ฝึกการใช้สำนวนภาษาต่างๆ ฝึกการจัดระบบความคิดและการเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ จากตนเองและผู้อื่น
                เมื่อท่านมีคุณสมบัติ 3 นัก หรือ หากไม่มีก็ต้องแสวงหา สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องลงมือเขียนครับ อย่ากลัวหรือมีข้ออ้างต่างๆ  เช่น กลัวจะถูกวิจารณ์ กลัวว่าจะไม่ได้รับการตีพิมพ์ หรือ อ้างว่าไม่มีเวลา อ้างว่าไม่มีความสามารถในด้านนี้ เมื่อท่านมีความกลัวหรือมีข้ออ้างต่างๆ แล้ว ท่านก็ไม่สามารถที่จะเขียนบทความออกมาสู่สายตาของสาธารณะชนได้ จงลบความกลัวและข้ออ้างต่างๆ ออกจากความคิดของท่าน
                ดังนั้น นักเขียนบทความที่ดีและมีผลงานออกสู่สายตาสาธารณะชนมากๆ จะต้องสร้างแรงจูงใจ จากภายในและภายนอก เช่น การคิดถึงค่าตอบแทน การคิดถึงชื่อเสียง ความต้องการเป็นที่รู้จักหรือเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม และความรักความชอบ จึงทำให้นักเขียนบทความ ท่านนั้น สร้างผลงานออกมาอย่างมากมาย
การเขียนบทความที่ดีคือการเขียนบทความเพื่อสังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น