เทคนิคการเขียนบทความ
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
http://www.drsuthichai.com/
คนบางคนมีหนังสือเล่มเดียวในตัวเอง แต่บางคนมีหนังสือเป็นห้องสมุด
กระผมได้เขียนบทความเกี่ยวกับการเขียนมาหลายบทความแล้วในตอนนี้เราจะมาพูด กันในเรื่องสิ่งที่ต้องทราบก่อนการเขียนบทความ ซึ่งถ้าใครต้องการเขียนบทความท่านควรทราบสิ่งเหล่านี้ก่อน ท่านจึงจะสามารถเขียนบทความได้ดี
- ต้องทราบกลุ่มเป้าหมาย ในการเขียนบทความแต่ละบทท่านต้องท่านก่อนว่ากลุ่มเป้าหมายของท่านคือใคร ใครคือผู้อ่านและผู้อ่านของท่านเป็นคนกลุ่มไหน (เช่น อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักการเมือง นักวิชาการ และชนชั้นกลาง ดังนั้นท่านจึงเขียนบทความเกี่ยวข้องกับ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม) อีกทั้งต้องทราบว่าหนังสือพิมพ์ วารสาร นิตยสาร สื่อสิ่งพิมพ์ ใดที่กลุ่มเป้าหมายของท่านอ่าน เช่น ถ้าต้องการให้คนสนใจการเมืองอ่านก็ต้องเขียนบทความทางการเมืองลงในหนังสือ พิมพ์ “ มติชน ” หรือหากต้องการให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี ศิลปะวัฒนธรรมก็ต้องเขียนลงในนิตยสาร “ ศิลปะวัฒนธรรม” หากเป็นกลุ่มเป้าหมายชาวบ้านอ่านก็ต้องเขียนบทความของท่านลงในหนังสือพิมพ์ “ ไทยรัฐ ,เดลินิวส์,บ้านเมือง” หากว่าเป็นนักธุรกิจหรือคนชั้นกลางอ่านท่านก็ต้องเขียนบทความของท่านลงใน หนังสือพิมพ์ “ ผู้จัดการ หรือ กรุงเทพธุรกิจ ”
- เมื่อท่านทราบกลุ่มเป้าหมายแล้วท่านต้องมาเรียนรู้เรื่องของเทคนิคในการนำ เสนอ เช่นเรื่องของการ ย่อหน้าจะทำให้ผู้อ่านอ่านบทความของท่านได้ง่ายขึ้น การจับอารมณ์ของสังคมหรือการจับกระแสของสังคมในช่วงสถานการณ์ต่างๆ มีความสำคัญมาก เช่น การเขียนบทความ ตามเรื่องที่ผู้คนในสังคมกำลังสนใจอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายของรัฐบาลที่มีผลกระทบกับสังคม เรื่องของการทำแท้ง เรื่องของอุบัติเหตุต่างๆในช่วงนั้นๆ หากท่านสามารถเขียนบทความได้ตามกระแส ท่านก็จะได้รับความสนใจจากผู้อ่านมากกว่าการที่ท่านเขียนสิ่งที่ท่านต้องการ นำเสนอแต่ไม่ได้อยู่ในกระแสหรืออารมณ์ของคนในสังคม
- สำหรับเนื้อหาของตัวบทความมีความสำคัญมาก สำคัญตั้งแต่การตั้งชื่อเรื่อง การตั้งชื่อเรื่องจะตั้งชื่อเรื่องอย่างไรให้คนสนใจ การขึ้นต้นบทความอย่างไร ถึงจะเรียกร้องความสนใจจากผู้อ่าน เนื้อหาอย่างไรให้สอดคล้องกลมกลืนกับการขึ้นต้นและสรุปจบบทความ
- การนำเสนอความคิดเห็นอย่างไรถึงจะทำให้ผู้อ่านรู้สึกถึงองค์ความรู้ของผู้ เขียนเพราะบทความมักเน้นเรื่องความคิดเห็นของผู้เขียนมากกว่าเอกสารอ้างอิง หรือหลักฐานต่างๆ ฉะนั้นผู้เขียนบทความที่มีความแหลมคมทางความคิดมากย่อมเป็นที่สนใจของผู้ อ่านเช่น อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ท่านเขียนบทความได้แหลมคมและมีแง่คิดหลายชั้น หลายมุมมอง มาก กระผมเองเคยได้มีโอกาสสอบถามอาจารย์โดยกระผมได้รอพบท่านหลังจากท่านลงจาก เวทีสัมมนาทางวิชาการแห่งหนึ่ง กระผมถามว่า อาจารย์ทำอย่างไร ความคิดถึงแหลมคมเหมือนอาจารย์ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้กรุณาให้คำตอบกระผมและกระผมขออนุญาตนำเสนอ ณ บทความนี้ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ บอกว่า “ เราต้องกล้าเถียงตัวเอง ”
สำหรับบทความนี้กระผมขอนำเสนอเพียงแค่นี้ก่อน แล้วหากมีโอกาสกระผมจะทยอยเขียนบทความเกี่ยวกับด้านการเขียนอีก เพื่อจะได้เผยแพร่และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับท่านผู้อ่าน มีคนถามกระผมว่า อยากเป็นนักเขียนเหมือนกันแต่ไม่มีเวลาเขียน ความจริงแล้วกระผมว่ามันอยู่ที่ใจรัก หากว่าเรารักในงานเขียนเราย่อมมีเวลาให้ แม้ว่างานจะมีมากมายแค่ไหน ลองถามใจตนเองว่าเรารักการเขียนมากน้อยแค่ไหน
ถ้าท่านต้องการเป็นนักเขียนที่ดี ท่านจำเป็นต้องเขียน เขียนและเขียน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น