วันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สร้างจิตวิญญาณเพื่องานเขียน

สร้างจิตวิญญาณเพื่องานเขียน
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก
                หลายคนอยากที่จะเป็นนักเขียน แต่ก็ไม่ยอมลงมือที่จะเขียน อีกทั้งยังมีข้ออ้างต่างๆนานา เช่น ไม่มีเวลา , ไม่มีอารมณ์ในการเขียน , เขียนไม่เก่ง , เขียนไม่ได้ เป็นต้น แต่แท้ที่จริงแล้ว คนที่จะเป็นนักเขียนมืออาชีพ หรืออยากจะยึดอาชีพนักเขียน มีความจำเป็นจะต้องสร้างจิตวิญญาณ
                การสร้างจิตวิญญาณในการเขียนหนังสือมีความสำคัญมาก เพราะการสร้างจิตวิญญาณในการเขียนจะทำให้เราอยากที่จะเขียนหนังสือทุกๆวัน
                เราจะสร้างจิตวิญญาณในการเขียนได้อย่างไร
-เริ่มต้นที่ความรักหนังสือ รักการอ่าน บ่มเพาะความรักหนังสือ จนชีวิตนี้ขาดหนังสือไม่ได้ หากว่าเรารักหนังสือ เรามักที่จะไปหาหนังสือเพื่อที่จะอ่าน ตามแหล่งต่างๆ หากไม่มีเงินก็ไปหาหนังสืออ่านตามมหาวิทยาลัย โรงเรียน ห้องสมุดประชาชน ฯลฯ แต่หากว่ามีเงินซื้อหนังสือ ก็สามารถไปซื้อหนังสืออ่านได้ที่ร้านขายหนังสือทุกแห่ง โดยเฉพาะงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ส่วนใหญ่จัดที่ศูนย์สิริกิต์ปีละ 1-2 ครั้ง ก็จะมีหนังสือลดราคาให้เราเลือกกันมากมาย
-เมื่อมีความรักแล้ว ที่นี่ก็พยายามเขียน พยายามหัดเขียนทุกๆวัน เขียนเป็นกิจวัตร เหมือนกับว่าเราทำกิจกรรมนั้นๆเป็นประจำ เช่น ทานข้าว,แปรงฟัน,อาบน้ำ ฯลฯ เขียนทุกวันจนกระทั่งติดเป็นนิสัยและเป็นธรรมชาติในที่สุด เพราะงานเขียนคือทักษะที่เราต้องสะสมและต้องฝึกฝนด้วยตนเอง อีกทั้งต้องใช้เวลาในการฝึก ไม่เหมือนกับการสะสมสิ่งของ หากว่าเรามีเงินเราก็สามารถหาซื้อสิ่งของมาสะสมได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่งานเขียนถึงแม้มีเงินมาก ก็ไม่สามารถซื้อได้ นอกจากต้องฝึกฝนด้วยตนเอง
-มีความฝัน หลายคนใช้ความฝันเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนให้ทำงานเขียนได้เพิ่มขึ้นและพัฒนาขึ้น เช่น ฝันอยากเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ, ฝันอยากร่ำรวยเงินทองจากการเขียนหนังสือขาย,ฝันว่าอยากเป็นที่รู้จักของผู้คนโดยผ่านงานเขียนฯลฯ จึงทำให้เขามีพลังที่จะเขียนหนังสือให้ได้มากขึ้น
-จงสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ตนเองและจงสร้างความกระหายอยากในการที่จะเขียนตลอดเวลา เราอาจหารูปนักเขียนที่เราชื่นชอบตัดเก็บไว้ดูหรือคำคมเตือนใจของบรรดานักเขียนโดยการจดไว้อ่านเตือนใจเรา   เวลาที่เราท้อแท้จากงานเขียนของเรา และจงสร้างความกระหายความอยากที่จะเขียนหนังสือตลอดเวลา ฝันถึงมัน คิดถึงมัน แล้วลงมือเขียน เขียนดีบ้าง เขียนไม่ดีบ้างไม่เป็นไร แต่ขอให้เขียนทุกๆวัน งานเขียนของท่านก็จะพัฒนาขึ้นในที่สุด
                ฉะนั้น การสร้างจิตวิญญาณเพื่องานเขียน มีความสำคัญมาก เพราะหลายคนไม่มีใจให้แก่งานเขียน เขาก็จะขาดการทุ่มเทเวลา ทุ่มเทจิตใจ ทุ่มเทพลัง ให้กับงานเขียน และหากว่าท่านเขียนจนมีผลงานออกมาเป็นเล่มขายในท้องตลาดแล้ว กระผมมีความเชื่อว่า จิตวิญญาณที่จะอยากเขียนของท่านก็จะเพิ่มมากขึ้น และผู้คนก็จะรู้จักท่านมากยิ่งขึ้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น