วันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สร้างจิตวิญญาณเพื่องานเขียน

สร้างจิตวิญญาณเพื่องานเขียน
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก
                หลายคนอยากที่จะเป็นนักเขียน แต่ก็ไม่ยอมลงมือที่จะเขียน อีกทั้งยังมีข้ออ้างต่างๆนานา เช่น ไม่มีเวลา , ไม่มีอารมณ์ในการเขียน , เขียนไม่เก่ง , เขียนไม่ได้ เป็นต้น แต่แท้ที่จริงแล้ว คนที่จะเป็นนักเขียนมืออาชีพ หรืออยากจะยึดอาชีพนักเขียน มีความจำเป็นจะต้องสร้างจิตวิญญาณ
                การสร้างจิตวิญญาณในการเขียนหนังสือมีความสำคัญมาก เพราะการสร้างจิตวิญญาณในการเขียนจะทำให้เราอยากที่จะเขียนหนังสือทุกๆวัน
                เราจะสร้างจิตวิญญาณในการเขียนได้อย่างไร
-เริ่มต้นที่ความรักหนังสือ รักการอ่าน บ่มเพาะความรักหนังสือ จนชีวิตนี้ขาดหนังสือไม่ได้ หากว่าเรารักหนังสือ เรามักที่จะไปหาหนังสือเพื่อที่จะอ่าน ตามแหล่งต่างๆ หากไม่มีเงินก็ไปหาหนังสืออ่านตามมหาวิทยาลัย โรงเรียน ห้องสมุดประชาชน ฯลฯ แต่หากว่ามีเงินซื้อหนังสือ ก็สามารถไปซื้อหนังสืออ่านได้ที่ร้านขายหนังสือทุกแห่ง โดยเฉพาะงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ส่วนใหญ่จัดที่ศูนย์สิริกิต์ปีละ 1-2 ครั้ง ก็จะมีหนังสือลดราคาให้เราเลือกกันมากมาย
-เมื่อมีความรักแล้ว ที่นี่ก็พยายามเขียน พยายามหัดเขียนทุกๆวัน เขียนเป็นกิจวัตร เหมือนกับว่าเราทำกิจกรรมนั้นๆเป็นประจำ เช่น ทานข้าว,แปรงฟัน,อาบน้ำ ฯลฯ เขียนทุกวันจนกระทั่งติดเป็นนิสัยและเป็นธรรมชาติในที่สุด เพราะงานเขียนคือทักษะที่เราต้องสะสมและต้องฝึกฝนด้วยตนเอง อีกทั้งต้องใช้เวลาในการฝึก ไม่เหมือนกับการสะสมสิ่งของ หากว่าเรามีเงินเราก็สามารถหาซื้อสิ่งของมาสะสมได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่งานเขียนถึงแม้มีเงินมาก ก็ไม่สามารถซื้อได้ นอกจากต้องฝึกฝนด้วยตนเอง
-มีความฝัน หลายคนใช้ความฝันเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนให้ทำงานเขียนได้เพิ่มขึ้นและพัฒนาขึ้น เช่น ฝันอยากเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ, ฝันอยากร่ำรวยเงินทองจากการเขียนหนังสือขาย,ฝันว่าอยากเป็นที่รู้จักของผู้คนโดยผ่านงานเขียนฯลฯ จึงทำให้เขามีพลังที่จะเขียนหนังสือให้ได้มากขึ้น
-จงสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ตนเองและจงสร้างความกระหายอยากในการที่จะเขียนตลอดเวลา เราอาจหารูปนักเขียนที่เราชื่นชอบตัดเก็บไว้ดูหรือคำคมเตือนใจของบรรดานักเขียนโดยการจดไว้อ่านเตือนใจเรา   เวลาที่เราท้อแท้จากงานเขียนของเรา และจงสร้างความกระหายความอยากที่จะเขียนหนังสือตลอดเวลา ฝันถึงมัน คิดถึงมัน แล้วลงมือเขียน เขียนดีบ้าง เขียนไม่ดีบ้างไม่เป็นไร แต่ขอให้เขียนทุกๆวัน งานเขียนของท่านก็จะพัฒนาขึ้นในที่สุด
                ฉะนั้น การสร้างจิตวิญญาณเพื่องานเขียน มีความสำคัญมาก เพราะหลายคนไม่มีใจให้แก่งานเขียน เขาก็จะขาดการทุ่มเทเวลา ทุ่มเทจิตใจ ทุ่มเทพลัง ให้กับงานเขียน และหากว่าท่านเขียนจนมีผลงานออกมาเป็นเล่มขายในท้องตลาดแล้ว กระผมมีความเชื่อว่า จิตวิญญาณที่จะอยากเขียนของท่านก็จะเพิ่มมากขึ้น และผู้คนก็จะรู้จักท่านมากยิ่งขึ้น


ลีลาการเขียน

ลีลาการเขียน
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                ลีลาการเขียน มีความสำคัญมาก เพราะ นักเขียนดังๆหลายคน มีลีลาการเขียนที่สนุก เร้าใจ บางคนเขียนจนกระทั่งกระชากหัวใจของผู้ฟังออกมาเลยก็มี(เป็นการเปรียบเทียบครับ ไม่ใช่กระชากออกมาจริงๆ)
                สำหรับการฝึกฝนทางด้านลีลาในการเขียนเราสามารถฝึกฝนและพัฒนาได้ดังนี้
                1.หัดเป็นคนอ่านหนังสือให้มากๆ การอ่านหนังสือมากจะทำให้เราได้เห็นลีลาการเขียนของนักเขียนท่านอื่นๆ เพื่อนำเอาข้อดีเหล่านั้น มาพัฒนาลีลาการเขียนของเรา
                2.หัดเป็นนักสะสม จดจำ เมื่อเห็น คำ ถ้อยคำ ลีลา การเขียนประโยคไหนที่ชื่นชอบ พยายามจดจำ หรือจดไว้ในสมุดบันทึก เพื่อนำเอาไปปรับปรุงใช้ในงานเขียนของตนเอง
                3.หัดคิดก่อนลงมือเขียน การคิดนี้จะเป็นการวางโครงสร้างเรื่อง ว่าเราจะขึ้นต้นอย่างไร เนื้อเรื่องอย่างไร สรุปจบอย่างไร
                4.หัดค้นหาตัวตนให้พบ นักเขียนหลายคน เขียนบทความได้ดี มีคนชื่นชม ยกย่อง แต่เมื่อเห็นนักเขียนท่านอื่น เขียนนวนิยายแล้วดังและร่ำรวย ก็อยากที่จะเขียนนวนิยายบ้าง แต่เมื่อลงมือเขียนจริงๆ กลับเขียนไม่ได้เรื่อง ฉะนั้น จงค้นหาตัวตนของตนเองให้เจอว่าตนเอง ชอบเขียนงานในลักษณะไหนแล้วพัฒนางานเขียนของตนเองจะออกมาดีกว่าไปมุ่งฝึกฝนงานเขียนที่ตนเองไม่ชอบ ไม่ถนัด
                5.หัดพัฒนาตนเอง อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ งานเขียนเป็นเรื่องของทักษะ หากว่าใครได้มีโอกาสเขียนมาก ก็จะยิ่งทำให้คนพบลีลาการเขียนของตนเอง อีกทั้งลีลาการเขียนก็จะพัฒนาดียิ่งๆขึ้น
                6.หัดเป็นคนที่อดทน งานเขียนเป็นงานที่ต้องใช้เวลาพิสูจน์ บางคนกว่าจะดัง ต้องฝึกเขียนทุกๆวัน เป็นเวลา 10 ปี แต่นักเขียนรุ่นใหม่ ใช้เวลาฝึกเขียน ทุ่มเท น้อยมาก เพียงแค่ 1-2 ปี ก็อยากจะดังเสียแล้ว
                7.หัดเป็นนักปรุง การเขียนเรื่องเดียวกัน เช่น เรื่อง “ แม่ ” แต่บางคนเขียนแล้วคนอ่านชอบ แต่อีกคนเขียนแล้ว คนอ่านไม่ชอบ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการปรุงนั้นเอง

                8.หัดเปิดใจรับฟังคำวิจารณ์ คำวิจารณ์จะทำให้เราแก้ไขงานของตนเองให้ดียิ่งขึ้น งานเขียนของนักเขียนบางคน เขียนเป็นเวลา 10 ปี ไม่ดัง แต่เมื่อมีคนเสนอแนะ เหมือน  “ เส้นผมบังภูเขา ” ปรากฏว่าเมื่อนำ คำขอเสนอแนะ ไปปรับปรุง งานเขียนก็ดีขึ้นทันตาเห็น
                ฉะนั้น เรื่องของลีลาการเขียน เราสามารถปรับปรุง พัฒนาให้ดีขึ้นได้ ทั้งนี้คงขึ้นอยู่กับ ตัวของเราเองเป็นสำคัญ หากว่าเรามีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะพัฒนาปรับปรุง การใช้ภาษา การใช้ถ้อยคำ การดำเนินเรื่องในการเขียน กระผมเชื่ออย่างสุดใจว่า เราทุกคนทำได้ ขนาดสัตว์(หมา นกแก้ว ช้าง ม้า ) คนยังนำมาฝึกได้ แต่เนี่ยเราเป็นคน ก็ยิ่งต้องฝึกได้ คนเราสามารถเป็นนักเขียนได้ หากว่าเราคิดว่าเราทำได้

                

เขียนสู่อิสระภาพ

เขียนสู่อิสระภาพ
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                งานเขียนเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่งที่เราสามารถ ถ่ายทอดประสบการณ์ ถ่ายทอดความคิด ถ่ายทอดความรู้สึก ถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ตลอดจนถ่ายทอดจินตนาการ ของเราไปสู่ผู้อ่านได้
                งานเขียนจึงเป็นงานที่เราสามารถใช้ความคิดอย่างเป็นอิสระและสามารถปลดปล่อย  สิ่งต่างๆที่ได้กล่าวมาในข้างต้น
                                การเขียนมีประโยชน์มากกว่าที่คิด
1.เป็นการฝึกสมาธิ หลายคนชอบนั่งสมาธิ แต่ถ้าหากใครที่ไม่ชอบนั่งสมาธิ กระผมขอแนะนำให้เขียนหนังสือครับ เพราะงานเขียนทำให้เรามีสมาธิ หลายครั้งที่เราต้องพบกับความวุ่นวาย สับสน หากเราได้ใช้เวลาดังกล่าว ในการลงมือเขียนอะไรบางอย่าง ก็จะทำให้จิตใจของเราสงบนิ่งลงอย่างรวดเร็ว
2.เป็นการเผยแพร่ความรู้ ให้กำลังใจผู้อื่น นักเขียนมักมีความสุขและมีความสนุก เมื่อได้ลงมือเขียนเรื่องราวต่างๆ ผ่านตัวอักษรเพื่อให้ผู้อ่านได้รับความรู้และได้รับกำลังใจในการต่อสู้ชีวิต บทความ เรื่องราวจากผู้เขียน ทำให้ผู้อ่านได้อ่านแล้วมีความรู้สึกมีกำลังใจและได้รับความรู้แง่มุมใหม่ๆเพิ่มขึ้น
3.เป็นการฝึกระบบความคิดอย่างเป็นระบบ  การคิดอย่างเป็นระบบช่วยให้เราประสบความสำเร็จเร็วขึ้นและหลายอาชีพจะต้องใช้ความคิดในการแก้ไขปัญหา เช่น ผู้บริหารมักจะต้องตัดสินใจ หากใครมีระบบคิดที่ดีกว่าก็ย่อมตัดสินใจได้ถูกต้องและรวดเร็วกว่า
4.เป็นการสร้างผลงานฝากไว้ให้แก่โลก นักเขียนเป็นจำนวนมาก แม้ตัวเองตายไปหลายร้อยปีแล้ว แต่ก็ยังมีชื่อเสียงโด่งดัง คนจดจำได้ ก็เนื่องจากเขามีผลงานผ่านหนังสือต่างๆมากมายนั้นเอง
5.เป็นการสร้างรายได้  งานเขียนทำให้เราได้รับรายได้ หลายคนร่ำรวยจากการเขียนหนังสือขายนักเขียนบางคนร่ำรวยจนการเป็นมหาเศรษฐีเลยก็มี เช่น เจ.เค.โรว์ลิ่ง นักเขียนชาวอังกฤษ เขียนเรื่อง แฮรี่ พอตเตอร์ ขายลิขสิทธิ์จนร่ำรวยมหาศาล
6.เป็นการสร้างชื่อเสียงให้แก่ตนเองและวงค์ตระกูล หลายคนคงได้อ่านผลงานหนังสือต่างๆของ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ท่านเขียนหนังสือเกือบ 200 เล่ม หลายเล่มทำให้ท่านมีชื่อเสียงโด่งดัง
7.เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้รับตำแหน่งวิชาการ ครู ตามโรงเรียน อาจารย์ ในมหาวิทยาลัย ในการขอตำแหน่งทางวิชาการ ทางราชการมักจะกำหนดให้มีผลงานโดยผ่านข้อเขียน เช่น งานวิจัย , เอกสารประกอบการสอน , ตำรา , บทความทางวิชาการ , หนังสือ  เป็นต้น
8.เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ทำให้ เป็นคนพูดเก่ง บางคนเป็นพูดเก่งแต่เขียนไม่เก่ง บางคนเขียนเก่งแต่พูดไม่เก่ง แต่คนที่เป็นนักพูดหรือนักเขียนที่เก่งๆ มักจะทำทั้งสองอย่างได้เป็นอย่างดี เพราะทั้งสองอย่างเป็นเรื่องของการสื่อสาร การใช้ภาษา การใช้ถ้อยคำ หากว่าใครเขียนเก่ง ก็มักมีโอกาสเลือกใช้ภาษาในการพูดได้มากกว่าคนที่เขียนไม่เก่ง

นี่คือประโยชน์ของงานเขียน สำหรับงานเขียนจะทำให้เราพบอิสรภาพอย่างไร หากว่าท่านอยากรู้ ท่านคงต้องลองทดลองดู โดยวิธีการ เขียน เขียนและเขียน  เขียนให้บ่อยขึ้น เขียนให้สม่ำเสมอขึ้น เขียนอย่างต่อเนื่อง แล้วท่านจะเป็นคนที่หนึ่งที่ได้พบกับความคิดและความรู้สึกที่เป็นอิสรภาพอย่างแท้จริง