วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2555

" พลังคุณธรรม จริยธรรมและพลังความสามัคคี คือพลังแห่งการสร้างชาติ "






บทความทางวิชาการ...ของ ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์..ที่ลงในวารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน ครับ...เรื่อง " พลังคุณธรรม จริยธรรมและพลังความสามัคคี คือพลังแห่งการสร้างชาติ "

วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555

หัวใจของนักเขียน

หัวใจนักเขียน
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                1.รักในงานเขียน บุคคลที่ประสบความสำเร็จไม่ว่าจะประกอบอาชีพใด อยู่ในวงการใด บุคคลที่ประสบความสำเร็จมักจะเริ่มต้นทำอาชีพนั้นเพราะความรัก หากท่านต้องการเป็นนักเขียน ท่านก็ต้องทำใจให้รักงานเขียนให้จงได้ เพราะถ้าไม่รักแล้ว ท่านก็จะทำงานเขียนไปด้วยความทุกข์ ทรมาน ไม่มีความสนุกในการเขียน จึงส่งผลกระทบต่อผลงานเขียนที่ออกมาได้
                2.รักการอ่าน หากท่านต้องการเป็นนักเขียน ท่านควรรักการอ่านด้วย เนื่องจากการอ่านจะทำให้ท่านมีวัตถุดิบหรือข้อมูลมากยิ่งขึ้นในการเขียน เมื่อท่านอ่านมากท่านจะมีความสามารถในการใช้คำ เล่นคำ ใช้โวหารต่างๆ ได้มากขึ้น
                3.มีสมาธิ การเขียนหนังสือ เราจะเป็นจะต้องมีสมาธิในการนั่งเขียน เพราะหากทำงานอื่นไปด้วย หรือ เขียนไปเขียนมาก็ไม่อยากเขียนเนื่องมาจากขาดความอดทน ขาดสมาธิ ก็จะไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากงานเขียนเป็นงานที่ต้องใช้เวลาในการเขียนและอ่าน หากขาดซึ่งสมาธิในการเขียนและอ่าน ผลงานเขียนก็คงออกมาได้อย่างช้ามาก
                4.มีการฝึกฝนและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ  งานเขียนเป็นงานที่ใช้ทักษะ เหมือนกับงานทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพูด  ช่างฝีมือ  ครู อาจารย์ ฯลฯ  งานเขียนจึงมีความจำเป็นจะต้องมีการฝึกฝนอยู่เสมอ หากเป็นไปได้ ท่านควรฝึกเขียนทุกๆ วัน แล้วท่านจะเป็นอีกผู้หนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการเป็นนักเขียน
                5.มีความสามารถในการจินตนาการและใช้ความคิด งานเขียนเป็นงานที่ต้องใช้จินตนาการบวกด้วยความคิด งานที่เขียนจึงออกมามีความแตกต่างกัน หากขาดซึ่งจินตนาการและความคิด การเขียนของท่านก็จะเหมือนกับงานเขียนของคนทั่วไป
                6.มีจรรยาบรรณ มีความรับผิดชอบต่องานเขียนของตนเอง และงานเขียนของผู้อื่น หากต้องนำงานเขียนของผู้อื่นมาใช้ เราก็ควรมีการอ้างอิงถึงแหล่งที่มา ว่าเรานำมาจากไหน ไม่เขียนให้ร้ายผู้อื่นโดยไม่มีหลักฐานหรือเพียงแค่ต้องการกลั่นแกล้งผู้อื่น ควรเขียนเพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์มากกว่าเขียนเพื่อที่จะมุ่งทำลาย
                7.มีความมั่นใจในตนเอง หากว่าท่านมีความคิดดีๆ มีจินตนาการดีๆ แต่ท่านขาดซึ่งความมั่นใจในตนเอง ไม่กล้าเขียน งานเขียนก็ไม่เกิด ดังนั้น นักเขียนต้องมีความมั่นใจในตนเอง เขียนด้วยความเชื่อมั่น เขียนด้วยความกล้า
                8.มีประสบการณ์ ประสบการณ์มีความสำคัญมากต่อการเป็นนักเขียน ประสบการณ์ในที่นี้คือประสบการณ์ชีวิต
เพราะนักเขียนที่มีประสบการณ์ชีวิตมากมักเคยผ่านสิ่งเหล่านั้นมา เมื่อมาทำงานเขียนแล้วจึงสามารถถ่ายทอดแบบให้เห็นเป็นภาพจริง ตรงกันข้ามนักเขียนที่ไม่มีประสบการณ์ บางครั้งก็ไม่สามารถถ่ายทอดเรื่องนั้นๆได้ เช่น นักเขียนที่อยู่ในคุกตะราง เวลาเขียนเรื่อง คุกตะราง ก็มักจะสื่อออกมาได้แบบสมจริงกว่านักเขียนที่ไม่เคยอยู่ในคุกหรือไม่เคยไปเห็นบรรยากาศ
                9.มีใจกว้าง ยอมรับคำวิจารณ์  เมื่องานเขียนออกมาแล้ว  อาจมีหลายท่านที่ได้วิจารณ์งานเขียนของเรา จงพร้อมที่จะยอมรับฟังคำ วิพากษ์วิจารณ์นั้น เพื่อนำมาตรวจสอบ แล้วดำเนินการแก้ไข ปรับปรุง พัฒนางานเขียนของเราต่อไปในโอกาสข้างหน้า
                10.มีความสามารถในการถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ผ่านตัวอักษร การเขียนก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับการพูด กล่าวคือ เป็นการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย เช่น การพูดเป็นการสื่อสารโดยการใช้เสียง ท่าทาง ไปยังผู้ฟัง แต่การเขียนเป็นการสื่อสารโดยผ่านตัวอักษรไปยังผู้อ่าน เป็นต้น

การเขียนมีความสำคัญอย่างไร

ความสำคัญของงานเขียน
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                งานเขียนที่ผู้เขียน เขียนออกมา โดยมีเนื้อหาที่ถูกต้อง มีความทันสมัย มีรูปแบบปกที่สดงาม ไม่ว่าจะเป็นประเภทใด ก็ย่อมมีประโยชน์ต่อผู้อ่าน อีกทั้งยังมีความสำคัญ ต่อประเทศชาติและตนเอง ความสำคัญของงานเขียนมีดังนี้
                1.งานเขียนมีประโยชน์ต่อประเทศชาติ
                1.1.ช่วยให้มีหนังสือประเภทต่างๆ  ออกมาขายและอยู่ในห้องสมุดตามสถาบันต่างๆกันอย่างมากมาย อีกทั้ง หนังสือบางเล่มยังสามารถใช้เป็นแหล่งที่มาในการอ้างอิงในการทำผลงานทางวิชาการ การทำรายงาน การค้นคว้าของนักเรียน นิสิต นักศึกษา  อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นหนังสือประกอบการเรียนการสอนตามสถาบันต่างๆ
                1.2.ช่วยให้ประเทศชาติเจริญ  ประเทศใดมีหนังสือมาก คนในประเทศนั้นมักเป็นคนที่มีความรู้  มีการศึกษา แต่ตรงกันข้าม ประเทศที่ไม่พัฒนา ล้าหลัง มักมีหนังสือเป็นจำนวนที่น้อยมาก ทำให้ประชาชนขาดอาหารสมองในการบริโภค เมื่อคนไม่มีความคิด สติปัญญา ความฉลาด ก็ส่งผลไปยังเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมประเทศนั้น
                2.งานเขียนมีประโยชน์ต่อตนเอง
                2.1.ช่วยเป็นเครื่องมือในการทดสอบความสามารถ ความคิดของตนเอง งานเขียนเป็นงานที่ต้องใช้ความคิด ความรู้ หากขาดซึ่งความคิด ความรู้ ถึงแม้จะมีข้อมูลมากสักเพียงใด ผู้เขียนก็คงไม่สามารถผลิตผลงานให้เป็นที่ยอมรับแก่ผู้อ่านได้ การผลิตงานเขียน ออกมาจึงเป็นการวัดความรู้ ความสามารถ และความคิดของผู้เขียนเอง  จึงอาจกล่าวได้ว่า งานเขียนยังเป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้เขียนเกิดความรู้ ในเรื่องที่เขียนมากขึ้นไปด้วยเช่นกัน
                2.2.ช่วยเป็นอนุสาวรีย์หรือเป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจของผู้เขียน งานเขียนที่ผู้เขียน เขียนออกมา มักเป็นสิ่งที่คงอยู่แม้ตัวผู้เขียนจะไม่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้แล้ว แต่ผลงานเขียนก็ยังคงเป็นอนุสาวรีย์หรือเป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจ และเป็นหลักฐานอย่างดี เมื่อลูกหลานได้มีโอกาสเห็นก็เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมยินดี
                2.3.ช่วยในการเป็นรายได้หาเลี้ยงชีพ งานเขียนยังคงเป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวได้ โดยการขายหนังสือ บางคนมีรายได้จากการขายหนังสือจนร่ำรวย ทั้งนี้คงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยในการที่จะร่ำรวยได้จากงานเขียน เช่น การตลาดดี ,  ผลงานเขียนดี  , นักเขียนเป็นคนมีชื่อเสียง ฯลฯ
                2.4.ช่วยในการสร้างความก้าวหน้าในอาชีพการงาน ไม่ว่าเราจะทำงานอาชีพอะไร หากว่า ท่านมีความสามารถในการเขียน ท่านก็จะได้รับความก้าวหน้า เช่น เป็นครู เป็นอาจารย์ ก็มักจะต้องเขียนหนังสือ เขียนเอกสาร เพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ หรือ เป็นพนักงานบริษัท หากมีความสามารถทางด้านการเขียน ก็จะถูกเจ้านายเรียกใช้เพื่อให้เขียนรายงาน เขียนโครงการต่างๆ เป็นต้น
                2.5.ช่วยให้เป็นคนมีชื่อเสียง คนดัง และทำให้คนอยากรู้จัก  หากว่างานเขียนของท่านเป็นที่ยอมรับของผู้อ่าน ท่านก็จะมีคนอยากจะรู้จักท่านมากขึ้น สื่อมวลชนบางแห่งก็อาจจะนำท่านไปสัมภาษณ์ออกสื่อต่างๆ
                2.6.ช่วยในการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ หลายๆ ท่านใช้เวลาหรือเสียเวลาไปกับสิ่งต่างๆ แต่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด การเขียนเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ได้ เพราะมีนักเขียนดังๆ เขียนต้นฉบับ ขณะรอรับประทานอาหาร แล้วนำมารวบรวมเรียบเรียงจนเป็นผลงานหนังสือออกมาได้เป็นเล่มๆ
                ดังนั้น เมื่อเราได้ทราบความสำคัญของงานเขียนแล้ว ขอให้ท่านผู้อ่านโปรดจงช่วยกันเขียนหนังสือออกมาเยอะ ซึ่งทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและตัวของเราเอง

เขียนอย่างไรให้ผู้อ่านชอบ

เขียนอย่างไรให้ผู้อ่านชอบ
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                                การเขียนไม่ว่าเราจะเขียนในประเภทไหน เช่น บทความ สารคดี เรื่องสั้น นิยาย ตำรา ฯลฯ เรามักอยากให้ผู้อ่านชอบงานเขียนของเรา อยากติดตามผลงานเขียนของเรา  ซึ่งวิธีที่จะทำให้เขาติดตามหรือชอบงานเขียนของเราได้นั้น สามารถทำได้โดย
                1.จงเขียนเรื่องที่เรารู้  การเขียนเรื่องที่เรารู้ จะทำให้ผู้เขียนสามารถใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในตัวเอง ซึ่งผู้เขียนได้อ่านมามากพอสมควร แล้ว มาทำการต่อยอดความรู้ให้มีความรู้ที่กว้างขึ้น ลึกขึ้น มากขึ้น อีกทั้งผู้เขียนควรเขียนให้เกิดความแตกต่างจากงานเขียนของผู้อื่น เช่น ต้องมีการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกหรือแง่มุมที่แปลกแตกต่างจากนักเขียนท่านอื่น เพราะหากผู้เขียน เขียนคล้ายคลึงกัน งานเขียนนั้นก็คงไม่ได้มีความแตกต่างจากงานเขียนของคนอื่นมากนัก แต่หากผู้เขียนเสนอแง่มุมที่ตลก แง่มุมที่คนไม่คิดกัน งานเขียนของผู้เขียนก็จะเกิดความแตกต่างขึ้นมาทันที และทำให้ผู้อ่านชื่นชอบในความคิดอ่านของผู้เขียนได้
                2.รู้จักจังหวะเวลา การจะทำหนังสือให้ขายดีหรือให้คนซื้อเป็นจำนวนมากนั้น ผู้เขียนอาจต้องเลือกจังหวะ ในการขายหนังสือ  เช่น  เมื่อสังคมเกิดภาวะวิกฤต คนต้องการกำลังใจ เราก็ควรเขียนหนังสือในแนวทางการให้กำลังใจ การพัฒนาตนเอง ธรรมะ ฯลฯ เพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ในสภาพสังคมในขณะนั้น หากทำได้ดังนี้ ผู้อ่านก็จะซื้อหนังสือของเรามากขึ้น เมื่อมีโอกาสได้อ่านก็มักจะชอบหนังสือที่เราเขียนมากขึ้นไปด้วย
                3.ต้องเขียนให้เกิดความหลากหลาย เช่น ใช้คำ เล่นคำ มีโวหาร มีสำนวน มีอุปมาอุปมัย การเขียนตัวอย่างต่างๆ เพื่อให้เห็นภาพพจน์ มีลีลาในการนำเสนอที่มีความหลากหลายในแบบฉบับของตัวเอง มีการสอดใส่อารมณ์เพื่อให้ผู้อ่านรู้สึกถึงอารมณ์นั้น กล่าวคือ เมื่ออ่านแล้ว เกิดความประทับใจจนทำให้เกิดน้ำตาไหลออกมาได้
                4. ต้องเขียนให้เกิดความชัดเจน กระชับ  ไม่ยืดยาด ซับซ้อน งานเขียนที่ผู้อ่านชื่นชอบ มักสื่อความหมายที่ชัดเจน ไม่ใช่ประเภท ที่อ่านเสร็จแล้ว เกิดอาการ งง สับสน ไม่เข้าใจ ว่าผู้เขียนต้องการสื่อสารอะไรกับผู้อ่าน ฉะนั้น ควรเขียนให้สั้น กระชับ มีความชัดเจน ไม่คลุมเครือ
                5.เขียนในสิ่งที่ผู้เขียนเชื่อ  การเขียนก็มีลักษณะเดียวกันกับการพูด กล่าวคือ หากผู้พูดต้องการโน้มน้าวให้ผู้ฟังเชื่อถือ ศรัทธา ผู้พูดต้องมีความเชื่อในเรื่องนั้นๆ ก่อน การเขียนก็เช่นกัน หากผู้เขียนมีความเชื่อ มีความศรัทธา ในเรื่องที่ตนเองเขียน งานเขียนนั้นก็สามารถโน้มน้าวหรือชักจูงในผู้อ่านเชื่อถือ ศรัทธาได้เช่นกัน
                6.จงเขียนในแนวทางของตนเอง เนื่องจากงานเขียนมีหลายประเภท เช่น นิยาย สารคดี บทความ ข่าว ตำรา ฯลฯ ผู้เขียนควรเขียนในแนวทางที่ตนเองถนัด หากมีความถนัดการเขียนบทความ ก็ควรพัฒนางานเขียนของตนเองในแนวประเภทของบทความให้มากขึ้น อีกทั้งไม่ควรไปลอกเลียนสไตล์การเขียนของผู้อื่น จงเป็นตัวของตัวเอง
                7.จงพัฒนาความคิด ให้คิดนอกกรอบ คิดแตกต่าง คิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ คิดวิจารณ์ คิดเปรียบเทียบ คิดจินตนาการ การพัฒนาความคิดจะทำให้งานเขียนของเราดีขึ้น เราคงไม่ปฏิเสธว่า งานเขียนของ เจ.เค.โรว์ลิ่ง ผู้เขียน Harry Potter จนร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี หรือแม้แต่นักเขียนชาวไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน เช่น ท่านสุนทรภู่ กับงานเขียนเรื่องพระอภัยมณี  ก็เกิดจากความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของผู้เขียนทั้งสิ้น จงพัฒนาความคิดแล้วงานเขียนของท่านจะดีขึ้น ผู้อ่านก็จะชื่นชอบในความคิดของท่าน
                และอีกหลากหลายปัจจัย ที่ท่านสามารถพัฒนางานเขียนของท่านเพื่อให้เกิดความประทับใจ เกิดความเชื่อถือ ศรัทธา ในงานเขียนของท่าน เพราะงานเขียนเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ท่านสามารถหาความรู้ได้ ฝึกฝนได้ มีแบบฉบับ เทคนิค วิธีการของตนเองได้

วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2555

การเขียนที่ทำให้ผู้อ่านเกิดความสนใจ

เทคนิคการทำให้ผู้อ่านสนใจ
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                งานเขียนโดยมากมักมีความยาวและถ้าเป็นงานเขียนในเชิงวิชาการด้วยแล้ว อาจทำให้ผู้อ่านโดยทั่วไปเกิดความเบื่อหน่ายขึ้นได้ ดังนั้นถึงแม้งานเขียนของเราจะมีสาระ เนื้อหา แง่มุมดีขนาดไหน แต่ถ้าผู้อ่านไม่มีความสนใจอยากที่จะอ่านหรือไม่อ่าน งานเขียนของเราเลย งานเขียนนั้นก็ไร้ค่า สู้งานเขียนที่มีสาระน้อยกว่า แต่คนหยิบอ่านไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไรให้งานเขียนของเราเป็นที่สนใจของผู้อ่าน เราสามารถสร้างความสนใจในงานเขียนของเราได้ด้วยวิธีดังนี้
1.               การใช้รูปภาพประกอบ  การใช้รูปภาพประกอบจะทำให้ผู้อ่านเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น เพราะเนื้อหาบางอย่าง
อาจซับซ้อน สับสน ซึ่งยากต่อการอธิบาย เช่น การแสดงขั้นตอนต่างๆ ในการผสมพันธ์พืชหรือสัตว์ ,  ภาพแสดงชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆของยานอวกาศ ,  ภาพโมเดลกระบวนการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น การใช้ภาพประกอบจึงมีความสำคัญดังคำกล่าวที่ว่า “ ภาพเพียง 1 ภาพ แทนคำพูดเป็น 1,000 คำ)
2.               การใช้ตาราง เราสามารถใช้ตารางได้ในกรณีที่เรามีความต้องการเปรียบเทียบข้อมูล เปรียบเทียบตัวเลข  การ
ใช้ตารางที่ดีไม่ควรมีความยาวเกิน 1 หน้า กระดาษ แต่หากมีความจำเป็นก็ควรทำตารางให้อยู่ในหน้าที่คู่กัน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสะดวกในการอ่านของผู้อ่าน
3.               การใช้กราฟ แผนภูมิแท่ง  ประกอบการเขียน การใช้กราฟ แผนภูมิแท่ง จะทำให้ผู้อ่านทราบทันทีว่า อันไหน
มากกว่าอันไหน อันไหนสูงกว่าอันไหน อีกทั้งยังมีประโยชน์คือ เป็นการดึงดูดความสนใจ ประหยัดเวลา สร้างความแตกต่าง ในการนำเสนออีกด้วย
4.               ตัวหนังสือและการเน้นคำ  ควรใช้รูปแบบที่อ่านง่าย  อีกทั้งยังต่อมีการพิสูจน์คำผิดให้มีการผิดพลาดให้น้อย
ที่สุด เพราะถ้าหากหนังสือมีคำผิดมากๆ ผู้อ่านหรือผู้ซื้อ อาจทักว่าเป็นหนังสือที่ไม่ดี  การเน้นคำ ก็มีความสำคัญ ถ้าเราต้องการสื่อให้ผู้อ่านรับรู้ว่า ข้อมูลนี้มีความสำคัญ เราก็ควรเน้นคำให้มีความเด่นชัดขึ้น ซึ่งการเน้นคำให้ผู้อ่านทราบมีเครื่องมือหลายอย่าง เช่น อาจใช้วิธีขีดเส้นใต้ , การทำให้เป็นอักษรตัวทึบหรือแรเงา , การมีสัญญาลักษณ์ต่างๆ(ลูกศร ,ดอกจัน,สี่เหลี่ยม ,วงกลม , จุดกลมทึบ เป็นต้น)
                5.ขนาดของหนังสือและกระดาษ มีความสำคัญต่อนักอ่านมาก มีคนตั้งคำถามกับกระผมว่า ขนาดของหนังสือ ขนาดไหนดี กระผมคงตอบให้ไม่ได้ทั้งนี้ก็คงขึ้นอยู่กับ ประเภทของหนังสือเป็นหลัก เพราะถ้าหากเป็นหนังสือดนตรีสำหรับเด็กหรือนิทานสำหรับเด็ก ก็ไม่ควรทำหนังสือให้เล็กจนเกินไป เพราะจะทำให้ตัวโน้ตดนตรีหรืออักษรเล็ก จนเด็กๆ มองไม่เห็นแล้วจะไม่ชอบอ่าน การเลือกกระดาษก็สามารถดึงดูดใจผู้อ่านได้ไม่ใช่น้อย เช่น สีของกระดาษ , ความหนาความบาง , กระดาษสะท้อนแสง เคลือบมัน เป็นต้น แต่สำหรับคนที่เป็นนักการตลาดหรือมีความคิดสร้างสรรค์ อาจจะออกแบบขนาดของหนังสือเอง ซึ่งอาจแตกต่างจากหนังสือทั่วไป ก็สามารถดึงดูดใจผู้อ่านได้ไม่ใช้น้อย เช่น ออกแบบขนาดหนังสือให้ใหญ่กว่าปกติหรือเล็กกว่าปกติ , ออกแบบหนังสือให้มีขนาดเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส  ซึ่งสามารถสร้างความแตกต่างหรือทำให้เกิดความแตกต่างของสินค้าคือหนังสือได้
                6.ปกหนังสือ ปกหนังสือมีความสำคัญมาก เพราะเป็นประตูด่านแรกที่ทำให้คนอยากเปิดอ่านหนังสือของเราหรือไม่ การออกแบบปกจึงมีความสำคัญ ปกต้องเด่น ชวนให้ผู้อ่านอยากหยิบขึ้นมาอ่านเมื่อได้เห็น ซึ่งการออกแบบปกจะต้องทำให้เกิดความแตกต่างกับปกหนังสือเล่มอื่นๆ ในประเภทเดียวกัน  อีกทั้งยังต้องยอมที่จะลงทุนเพิ่ม เนื่องจาก การพิมพ์สี่สีแพงกว่าการพิมพ์สองสี การเคลือบมันปก การทำให้เป็นอักษรตัวนูน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ต้องลงทุนเพิ่มทั้งสิ้น
                ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จึงมีความสำคัญ แต่ความสนใจของผู้อ่าน และยังคงมีรายละเอียดต่างๆ อีกมากที่ยังไม่ได้กล่าวถึงแต่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้อ่านได้ เช่น สำนักพิมพ์และโรงพิมพ์ที่พิมพ์ , คำนำ คำนิยม ,  ราคา , ความชัดเจนของอักษรในการพิมพ์ เป็นต้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการดึงดูดความสนใจของผู้อ่านและมีคุณค่าอย่างแท้จริงสำหรับผู้อ่านก็คือ เนื้อหาสาระ ประโยชน์ของงานที่เราเขียนนั้นเอง