วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

เขียนให้เก่งอย่างนักเขียน

เขียนให้เก่งอย่างนักเขียน
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                งานเขียนเป็นอาชีพอิสระ งานเขียนเป็นอาชีพที่สามารถบริหารเวลาในการทำงานด้วยตนเองได้ งานเขียนสามารถสร้างรายได้มากมายมหาศาล สำหรับคนที่เขียนเก่งและสามารถเขียนในแนวที่ตลาดมีความต้องการได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม งานเขียนเป็นวิชาชีพหนึ่งที่ต้องอาศัยองค์ความรู้อยู่พอสมควร ถ้าไม่มีองค์ความรู้ท่านก็ไม่สามารถเขียนถ่ายทอดสิ่งต่างๆ ที่ท่านต้องการถ่ายทอดได้
                ทำอย่างไรถึงจะเขียนให้เก่งอย่างนักเขียน เคยมีคนตั้งคำถามนี้กับกระผมอยู่บ่อยๆ โดยส่วนตัวกระผมคิดว่า การประกอบอาชีพใดๆ ก็ตามในโลกนี้ บุคคลที่ประกอบอาชีพนั้นๆ หากต้องการความสำเร็จ ท่านจำเป็นจะต้องมีการพัฒนา ทั้งการพัฒนาตนเอง การพัฒนาทักษะ การพัฒนาความรู้ การพัฒนาความคิด การพัฒนาจิตใจ เป็นต้น
                หากว่าท่านต้องการประสบความสำเร็จในวิชาชีพต่างๆ แต่ท่านขาดการพัฒนา ชีวิตการทำงานของท่านก็จะนิ่ง ไม่มีความก้าวหน้า  แต่ถ้าหากท่านมีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ การประกอบอาชีพนั้นๆ ก็จะเจริญก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพและปริมาณ
                การจะเขียนให้เก่งอย่างนักเขียนก็เช่นกัน ท่านควรเริ่มต้นจากการฟังหรืออ่าน แนวความคิดของนักเขียนแต่ละท่านว่านักเขียนเหล่านั้นมีเทคนิคอย่างไรเวลาเขียน  มีแรงบันดาลใจอย่างไรถึงได้สร้างผลงานที่มีคุณภาพและปริมาณออกมาอย่างมากมาย เมื่อท่านได้เทคนิค วิธีการ ต่างๆจากบรรดานักเขียนแล้ว ท่านลองนำไปปฏิบัติ นำไปปรับปรุง ดัดแปลง วิธีการต่างๆ เหล่านั้น ท่านก็จะเป็นอีกผู้หนึ่งที่จะประสบความสำเร็จในการเป็นนักเขียนภายในอนาคต
                แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่บรรดานักเขียนที่ประสบความสำเร็จมีเหมือนกันก็คือ
                1.การอ่าน การอ่านเป็นเส้นทางของการเป็นนักเขียน นักอ่านทุกคนอาจไม่ใช่นักเขียน แต่นักเขียนทุกคนจะต้องเป็นนักอ่าน การอ่านหนังสือต่างๆ จะทำให้งานเขียนนั้นเกิดการพัฒนา หากไม่ชอบอ่านเราก็จะไม่รู้แนวทางในการเขียนรูปแบบต่างๆ หรือประเภทต่างๆ เช่น การใช้ภาษา การใช้สำนวน การใช้โวหาร การใช้ถ้อยคำ การเว้นวรรค การเล่นคำ การใช้รูปแบบตัวอักษร การสร้างเอกลักษณ์ของนักเขียนแต่ละท่าน เป็นต้น
                2.แรงบันดาลใจ ความมุ่งมั่นปรารถนาที่จะเป็นนักเขียน  เป็นสิ่งหนึ่งที่บรรดานักเขียนที่ประสบความสำเร็จจะต้องมี กล่าวคือ เมื่อนักเขียนมีแรงบันดาลใจ มีเป้าหมายในชีวิตในการทำงานที่อยากเป็นนักเขียน นักเขียนผู้นั้นก็จะมีความขยันขันแข็งที่จะเขียน มีความตั้งใจที่จะพยายามพัฒนางานเขียนของตนเอง มีความอดทนต่ออุปสรรค การประกอบอาชีพหรือการทำกิจการใดๆ ก็ตาม หากต้องการประสบความสำเร็จจะต้องใช้เวลา เช่น นักมวยแชมป์โลก ไม่ได้ชกแค่ครั้งเดียวแล้วได้เป็นแชมป์โลก แต่ต้องฝึกซ้อม ฝึกฝน พยายาม มานะ อดทน กว่าจะประสบความสำเร็จในการเป็นแชมป์โลก นักเขียนก็เช่นกัน ไม่ใช่เขียนหนังสือออกมาแล้ว 1 เล่ม แล้วไม่ดัง ก็เลิกล้ม หากมีนิสัยอย่างนี้ก็คงประสบความสำเร็จได้ยาก
                3.แนวคิดหรือการคิด การประกอบอาชีพใดๆ ก็ตามหากทำเหมือนคนอื่น ผลที่ออกมาก็จะไม่แตกต่างจากคนอื่นๆ แต่หากเรากล้าที่จะทำให้สิ่งที่ต่างแตก ผลที่ออกมาเราก็จะได้รับผลสำเร็จที่แตกต่างจากคนอื่นๆ เช่นกัน จงสร้างความแตกต่างแล้วจะมีคนตามอ่านหนังสือของท่านเป็นจำนวนมาก
                4.ทำทันที สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเป็นนักเขียนก็คือ ทำทันที “ จงอย่าบอกโลกว่าท่านทำอะไรได้บ้างแต่จงแสดงมันออกมา” มีคนเป็นจำนวนมากอยากเป็นนักเขียน แต่ไม่ยอมลงมือที่จะเขียน หากท่านไม่ย่อมเดินก้าวแรก ท่านก็ไม่มีวันที่จะถึงจุดหมายปลายทาง เช่นกัน หากว่าท่านอ่านมากแต่ไม่ยอมเขียน ท่านได้เป็นแค่นักอ่านไม่ใช่นักเขียน , หากว่าท่านมีแรงบันดาลใจแต่ท่านก็ไม่ลงมือที่จะกระทำคือลงมือเขียน แรงบันดาลใจแทบจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆเลย และหากท่านมีแนวคิดที่ดีๆ แต่ท่านไม่ยอมลงมือที่จะถ่ายทอด แนวคิดนั้นก็ไม่สามารถเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นได้          
                โดยสรุปท่านสามารถเขียนให้เก่งอย่างนักเขียนได้ ถ้าท่านชอบอ่านหนังสือ ท่านมีแรงบันดาลใจ ท่านมีแนวความคิดที่ดีๆ แปลกๆ ใหม่ๆ และสิ่งที่สำคัญก็คือ ท่านต้องลงมือเขียน ถ้าอยากเป็นนักเขียนต้องเขียนครับ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น