วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ศาสตร์การเขียน

ศาสตร์การเขียน
โดย...ดร.สุทธิชัย  ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
                การจะประสบความสำเร็จในการเป็นนักเขียน ท่านจะต้อง เขียน เขียน และเขียน
การเขียนเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของผู้ที่ต้องการการเป็นนักปราชญ์ จะต้องทำการฝึกฝน คือ สุ จิ ปุ ลิ
ซึ่งการเขียนจะว่ายากก็ยาก แต่คงไม่ยากเกินความสามารถ  สำหรับที่บุคคลต้องการเป็นนักเขียนหรือต้องการเขียนเป็น
                ในยุคปัจจุบันเป็นยุคข้อมูลข่าวสาร การจัดการองค์ความรู้จึงมีความสำคัญมาก การเขียนเป็นเครื่องมือหนึ่งในการการจัดการองค์ความรู้ ซึ่งมีมากมาย มีความกระจัดกระจาย  สังคมใดที่สามารถจัดการองค์ความรู้ ออกมาเป็นหนังสือเป็นเล่ม มักจะทำให้คนในสังคมนั้นๆ เกิดการเรียนรู้มากขึ้น มีการคิด มีการเขียนต่อยอดองค์ความรู้มากขึ้น
                พวกเราคงเคยเล่นเกมส์ เกมส์หนึ่ง คือ ให้ผู้เข้าร่วมเล่นเกมส์ต่อแถวกัน 2-3 แถว แล้วให้แข่งขันกันโดยผู้ดำเนินเกมส์ให้ให้กระดาษมาแผ่นหนึ่งซึ่งเขียนข้อความประโยคหนึ่ง แล้วให้ผู้เข้าเล่นเกมส์แข่งขันกันกระซิบต่อๆกัน จนถึงคนสุดท้าย ปรากฏว่า ข้อความที่กระซิบต่อต่อกันเกิดการผิดพลาดจากข้อความเดิมของคนที่ส่งข่าวสารให้คนแรก แต่ในทางกลับกัน หากเกมส์นี้ เปลี่ยนจากการกระซิบกัน แต่ผู้ดำเนินเกมส์ให้ส่งกระดาษที่เขียนประโยค แล้วส่งกระดาษให้ผู้เล่นเกมส์เป็นแถว จนถึงคนสุดท้ายให้อ่านข้อความในประโยคนั้น รับรองได้ว่าข้อสารนั้นจะไม่เกิดการผิดพลาด เพราะทุกคนที่เล่นเกมส์ก็จะอ่านประโยคในกระดาษที่เขียนเหมือนกันหมด
                นี่คือความแตกต่างระหว่างการพูดกับการเขียน ถ้าสังคมใดมีการจัดการองค์ความรู้ด้วยการเขียน ก็จะทำให้คนรุ่นหลังได้เกิดการเรียนรู้ต่อๆกันไป แต่หากส่งต่อองค์ความรู้ด้วยการพูด การสื่อสารนั้นก็อาจคลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับผู้ที่คิดค้นต้องการสื่อออกไป
                การเขียนที่ดีมีวัตถุประสงค์หลายอย่าง ซึ่งผู้เขียนอาจมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน  บางคนเขียนเพื่อการบันทึก บางคนอาจจะเขียนเพื่อให้ความรู้  บางคนเขียนเพื่อให้ความเพลิดเพลิน บางคนเขียนเพื่อประชาสัมพันธ์ บางคนเขียนเพื่อแจ้งข่าวสาร ฯลฯ
                อีกทั้งการเขียนมีหลากหลายประเภท เช่น การเขียนบทความ  การเขียนสารคดี  การเขียนนวนิยาย การเขียนเรื่องสั้น การเขียนเรียงความ ฯลฯ
                สำหรับผู้ที่ต้องการหัดเขียน กระผมขอแนะนำว่าท่านควรหัดเขียนตามแนวทางที่ตนถนัดก่อน ก็จะทำให้การเขียนของเราเขียนได้ง่ายขึ้น เขียนได้เป็นธรรมชาติขึ้น บางคนไม่รู้ว่าตนเองถนัดการเขียนในแนวไหน
ก็ลองสังเกตว่าตนเองชอบอ่านหนังสือประเภทไหน เพราะโดยมากคนที่อ่านหนังสือประเภทไหนก็มักจะมีความสนใจในหนังสือประเภทนั้น อีกทั้งท่านจะมีข้อมูลในการเขียนมากด้วย
                ถามว่าเมื่อรู้แนวการเขียนว่าตัวเองชอบงานเขียนในแนวไหนแล้ว แต่ทำไมเขียนไม่ออก อาจเป็นเพราะหลายสาเหตุ เช่น กลัวไม่มั่นใจ  ไม่มีเวลา ไม่รู้จะเขียนอะไร ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผู้ฝึกหัดการเขียนควรต้องทำการแก้ไข ปรับปรุงและพัฒนาตนเอง
                ลองหาสาเหตุ ว่าเป็นเพราะสาเหตุใดแล้วจึง ค่อยๆ หาทางแก้ไข อาจเป็นไปได้ว่า คนบางคนเขียนไม่ได้เนื่องมาจากการขาดแรงจูงใจ แรงบันดาลใจ เมื่อขาดแรงจูงใจ แรงบันดาลใจ ก็จะทำให้ผู้นั้นฝึกหัดการเขียนด้วยการขาดความกระตือรือร้น
                สรุป บุคคลที่ต้องการเป็น นักเขียนหรือต้องการฝึกเขียน ควรฝึกนิสัยในการรักการอ่าน หัดเป็นนักฟัง นักสังเกต  พยายาม หาทางพัฒนาการเขียนและปรับปรุงข้อบกพร่องในงานเขียนของตนเองตลอดเวลา สำหรับสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ถ้าท่านอยากเป็นนักเขียน ท่านจะต้องเขียน เขียนและเขียน